ปาฐกถาพิเศษ “เหลียวหลัง แลหน้า การบริหารเศรษฐกิจการเงินไทย กับ ผู้ว่า ฯ ธาริษา”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 21, 2010 13:22 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

“เหลียวหลัง แลหน้า การบริหารเศรษฐกิจการเงินไทย กับ ผู้ว่า ฯ ธาริษา”

ดร. ธาริษา วัฒนเกส

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ปี 2553 ครั้งที่ 2

ณ อาคารอเนกประสงค์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2553

ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาปาฐกถาพิเศษ ณ สำนักงานภาคเหนือในวันนี้ สำนักงานภาคของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น มีบทบาทสำคัญไม่แพ้สำนักงานใหญ่ ซึ่งนอกจากจะประเมินภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคแล้ว ยังเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับส่วนท้องถิ่น เพื่อนำมาประกอบการทำนโยบายในส่วนกลาง และในขณะเดียวกัน สำนักงานภาคก็มีหน้าที่สื่อสารแนวนโยบายการเงินและสถาบันการเงินจากส่วนกลางมายังท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

ดิฉันจึงขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณทุกท่าน ทั้งส่วนราชการและภาคธุรกิจที่ได้ให้ความร่วมมือแก่สำนักงานภาคเหนือด้วยดีตลอดมา และหากท่านมีข้อแนะนำประการใดที่จะช่วยให้สำนักงานภาคเหนือทำหน้าที่ได้ดีขึ้นก็ขอให้กรุณาช่วยชี้แนะด้วย

สำหรับวันนี้ ดิฉันขอแบ่งเรื่องที่จะพูดถึงออกเป็นสามส่วน คือ ภาวะเศรษฐกิจไทย แนวโน้มครึ่งปีหลังและการเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคต

ในส่วนแรก ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน การที่เศรษฐกิจไทยสามารถฝ่าฟันและพลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็วจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างเชื่อกันว่ารุนแรงสุดในรอบ 80 ปี รวมทั้งผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศไปได้ นั้น สะท้อนถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยที่มีมากขึ้นกว่าครั้งที่เราเผชิญกับวิกฤตปี 2540

แม้ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงแต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยกลับไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ และใช้เวลาเพียงสั้นๆ เพียงไม่ถึง 1 ปีในการปรับตัวเข้าสู่แนวโน้มปกติ โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวทั้งการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนต่างเริ่มกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤตแล้ว ยิ่งไปกว่านี้การฟื้นตัวยังมีลักษณะกระจายตัวและมีการปรับสมดุลมากขึ้น

การพลิกฟื้นได้เร็วมาจากเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพในตัวเองมากขึ้น ที่เห็นได้ชัดคือเราไม่ได้ใช้จ่ายอย่างเกินตัวและไม่ได้มีปัญหาการก่อหนี้มากเหมือนในอดีต ซึ่งมีส่วนทำให้ (1) จำกัดความเปราะบาง (2) ภาครัฐสามารถกู้ยืมในยามคับขัน (3) รองรับความผันผวน และ (4) ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว

การมีหนี้น้อยและการบริหารความเสี่ยงที่ทำได้ค่อนข้างดีนับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤต 2540 เป็นต้นมา เป็นจุดแข็งที่ทำให้สถานะของครัวเรือนและธุรกิจไทยแข็งแกร่งซึ่งแตกต่างจากสหรัฐ ฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถจำกัดความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจได้ บทเรียนในอดีตได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนา การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินที่มีความชัดเจนขึ้นเพื่อให้สถาบันการเงินเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น วิกฤตในครั้งนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า นอกจากสถาบันการเงินจะมีความแข็งแกร่ง ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยเองก็มีสามารถในการรองรับภาวะความไม่ปกติทางเศรษฐกิจได้ดีระดับหนึ่ง แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการชำระหนี้จะลดลงไปบ้างในช่วงวิกฤต แต่ก็สามารถฟื้นกลับมาได้เร็ว นอกจากนี้สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ในระบบทั้งในส่วนของภาคธุรกิจและของครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับต่ำและโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของภาครัฐ การที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาครัฐสามารถกู้ยืมในยามคับขันเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งไม่เหมือนกับหลายประเทศในสหภาพยุโรปตอนนี้ที่มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายด้านการคลังจากข้อวิตกกังวลในเรื่องหนี้สาธารณะ ที่ผ่านมาคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินนโยบายการคลังอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพของเรา มีส่วนช่วยยับยั้งวิกฤตและช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจได้ในยามที่ภาคเอกชนยังอ่อนแรง และเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การใช้จ่ายที่ไม่เกินตัวทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากในช่วงวิกฤตปี 2540 เกือบ 6 เท่า โดยปัจจุบันมีถึงกว่า 154 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเพียงพอต่อการรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนภายใต้ระบบ Managed float ได้ในระดับหนึ่ง

การมีหนี้น้อยยังทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว ในส่วนภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเองกล้ากลับมาจับจ่ายใช้สอยเมื่อความเชื่อมั่นกลับคืนมา เพราะไม่จำเป็นต้องจ่ายหนี้ โดยการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่แล้วแม้ว่าจะมีปัจจัยด้านการเมืองเข้ามากระทบก็ตาม เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญก็ปรับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 ไตรมาสสะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ทำงานประสานสอดคล้องกัน และมีการตอบสนองได้ทันการณ์ในทิศทางที่ถูกต้อง ก็มีส่วนช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว โดยในด้านนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 1.00 ต่อปีในเดือนธันวาคม 2551 นับว่ามากที่สุดในประวัติการณ์ของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และต่อมาได้ปรับลดลงรวมกันอีกร้อยละ 1.50 ต่อปี ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 3 ครั้งถัดมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายเป็นพิเศษที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตและลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจขาลง ในด้านนโยบายการคลัง มาตรการภาครัฐที่ออกมามุ่งให้เม็ดเงินกระจายและโอนไปสู่มือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยที่ได้รับผลกระทบ มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

ทั้งหมดนี้ จึงกล่าวได้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่งได้นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่ที่รวดเร็ว โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวได้ดีและเป็นที่น่าพอใจ ด้วยอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 10.6

ท่านผู้มีเกียรติคะ

ในส่วนที่สอง เรื่อง แนวโน้มครึ่งปีหลังนั้น กล่าวได้ว่า แรงส่งจากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ดีในช่วงครึ่งปีแรก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ตลอดจนความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นโดยตลอด จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ส่วนเศรษฐกิจโลกแม้ว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็คงจะชะลอลงบ้างจากที่ขยายตัวสูงในครึ่งปีแรก นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากทั้งปัญหาการว่างงานในสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาหนี้ภาครัฐในกลุ่มประเทศยูโรที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข รวมทั้งความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีอาจจะชะลอลงไปบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

อนึ่ง การที่หลายฝ่ายได้แสดงความวิตกกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทว่าจะกระทบกับการส่งออกนั้น ตรงนี้ขอยืนยันว่าธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักดีและมิได้นิ่งนอนใจ ได้มีการดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมา การบริหารจัดการด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็ต้องพิจารณาอย่างรอบด้านเพราะมีผลกระทบต่อหลายฝ่าย ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนเร็วเกินไปจนภาคเอกชนปรับตัวไม่ทัน จนนำมาสู่ผลกระทบในวงกว้างต่อการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพของประเทศและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในที่สุด

ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเชื่อว่าการส่งออกของเราจะยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อไปได้จากปัจจัยสนับสนุนที่มีอยู่หลายประการ ทำให้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ทั้งปี มาอยู่ที่ร้อยละ 6.5-7.5 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5-3.8 และร้อยละ 0.5-1.3 ตามลำดับ

แม้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในขณะนี้ยังมีไม่มาก แต่คาดว่าในปีหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 2 ครั้ง รวมร้อยละ 0.50 ต่อปี เพื่อนำดอกเบี้ยเข้าสู่ระดับปกติอีกรอบหนึ่ง เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นนโยบายที่ใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวมาก แต่ขณะนี้การฟื้นตัวมีความชัดเจนขึ้นและมีแรงส่งในระยะต่อไป ทำให้ความจำเป็นในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำมีน้อยลง ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและนานเกินไปในกรณีที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี จะสร้างปัญหาหลักๆ 3 เรื่องคือ ปัญหาเสถียรภาพราคา แรงจูงใจในการออมลดลง และการก่อหนี้เพื่อเก็งกำไรหรือลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพการผลิตในระยะยาว เนื่องจากสามารถกู้ได้ด้วยต้นทุนที่ถูก ดังตัวอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่ดึงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำและนานเกินไป จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และนำมาสู่วิกฤตในที่สุด

ท่านผู้มีเกียรติคะ

เมื่อมองไปในอนาคต แม้ว่าประเทศไทยจะฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตการเมืองไปได้ แต่วิกฤตโลกในครั้งนี้ได้ทำให้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินทั้งในระดับโลกและภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ เกิดกระบวนการโลกาภิวัตน์ในยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักลงทุน และพลวัตรเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ในประเด็นสุดท้าย ดิฉันจึงอยากจะขอแสดงความเห็นในเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคต ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ (1) ความอยู่รอด (2) เพื่อฉวยโอกาส และ (3) สร้างเสถียรภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับความอยู่รอดนั้น มาจากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยกำลังซื้อหลักของโลกอย่างสหรัฐอ่อนแอลง ทำให้ผู้ผลิตต้องแข่งขันเพื่อแย่งตลาดกันมากขึ้น ขณะเดียวกันผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น เห็นได้จากการรวมกลุ่มทางการค้าที่มีมากขึ้น อาทิเช่น ASEAN integration ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีประสิทธิภาพการผลิตมากที่สุดจะได้เปรียบ

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ growth center จะเปลี่ยนมาที่เอเชียเนื่องจากเอเชียมีปัจจัยฟื้นฐานที่ดีกว่า ขณะที่กลุ่มประเทศ G3 ยังคงวนเวียนกับการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน ปัญหาหนี้ภาครัฐ และปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังต้องใช้เวลาในการแก้ไข ปัจจุบันเราได้เห็นแล้วว่า ทรัพยากรด้านเงินทุนเริ่มที่จะไหลเข้ามาสู่เอเชียอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะมีความผันผวนสูง ตรงนี้ประเทศไทยต้องฉวยโอกาสที่จะแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เข้ามา แต่จะต้องมีการดูแลจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี การสร้างเสถียรภาพเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตไปอย่างยั่งยืนก็เป็นเรื่องสำคัญ ภายใต้ความผันผวนที่จะมีมากขึ้นในอนาคต ทางการจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพด้านต่าง ๆ ให้มากขึ้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การมุ่งหวังให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูง ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความไม่สมดุลกับระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้ ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีความสมดุลและทนทานต่อความผันผวนต่าง ๆ การผสมผสานของนโยบายการเงินและการคลังจึงควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจและเอื้อให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพและยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เพื่อฉวยโอกาส และสร้างเสถียรภาพเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำมีอยู่ 4 เรื่อง คือ

เรื่องแรก คือ การลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เป็นที่น่ากังวลใจที่ประเทศไทยมีการลงทุนอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายในภูมิภาค โดยการลงทุนของไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ ที่เผชิญวิกฤตพร้อมกันอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ขณะที่คู่แข่งใหม่ๆ ในภูมิภาคมีการขยายการลงทุนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในเอเชียกำลังเข้าสู่วัฏจักรการลงทุนใหม่ ทำให้หลายคนกังวลใจว่า ประเทศไทยกำลังจะตกรถไฟของวัฏจักรการลงทุนรอบนี้หรือไม่ และกำลังจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ หรือไม่ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน ทั้งการสร้างบรรยายการการลงทุนที่ดี โดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองต้องจบ การลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน และเป็นตัวจักรในการนำการลงทุนภาคเอกชน (Crowding-in effect) รวมทั้งการแก้ปัญหาในระดับจุลภาคเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุน ที่สำคัญ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันและลดการผูกขาด การให้ความสำคัญกับมาตรฐานสินค้าของผู้บริโภค การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และมีต้นทุนการเงินที่ต่ำลง

เรื่องที่สอง จึงเป็นเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการทางการเงินเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไหลลื่นมากขึ้น โดยระบบการเงินไทยควรต้องเร่งพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ โดย ธปท. จะเข้าไปดูแลให้การเข้าถึงสินเชื่อกับสถาบันการเงินทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการขยายธุรกิจประเภท Micro finance ให้มากขึ้นเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่รายย่อยอีกทางหนึ่ง 2) การส่งเสริมการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งตัวชี้ประสิทธิภาพที่ดีตัวหนึ่ง ก็คือ spread หรือส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืม และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังกว้าง กลไกสำคัญอันหนึ่งที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ก็คือ การเพิ่มผู้เล่นหรือผู้ให้บริการ หรือก็คือธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้การแข่งขันในระบบมีมากขึ้นทั้งในแง่อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม รวมไปถึงการเปิดเสรีให้ธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจในขอบเขตที่กว้างขึ้น และ 3) การพัฒนาความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินและระบบการเงินในประเทศให้ดีขึ้น เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในอันที่จะรองรับความผันผวนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ได้วางแนวทางไว้อย่างครอบคลุมแล้ว

เรื่องที่สาม คือ การดำเนินนโยบายทางการเงินที่คำนึงถึงเสถียรภาพหลายด้านมากขึ้น ในสภาวะเศรษฐกิจการเงินใหม่ของโลก การคุมเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียวไม่ได้เป็นเครื่องป้องกันการเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคการเงินได้ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นจากความเปราะบางจากจุดใดจุดหนึ่ง หรือเกิดจากหลายจุดพร้อมกัน ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้ความสำคัญในการติดตามดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจทั้ง 7 ด้าน คือ 1) เสถียรภาพด้านต่างประเทศ 2) สินเชื่อและฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ 3) ฐานะหนี้ของภาคครัวเรือน 4) ภาวะด้านราคาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5) ภาวะด้านราคาตลาดหลักทรัพย์ 6) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจ 7) ฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะ

นอกจากนี้ ยังต้องมีการผสมผสานนโยบายการกำกับระบบสถาบันการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวม (Macro Prudential) ซึ่งจะช่วยลดทอนความรุนแรงของความผันผวนที่เกิดขึ้น (Pro-cyclicality) อันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและ resiliency ให้กับโครงสร้างภาคการเงินในระยะยาว

เรื่องสุดท้าย คือ การรักษาความยั่งยืนของฐานะทางการคลัง นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital) ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเป็นหัวใจของการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ผู้สร้างหรือผู้กระทำต้องมาจากคน จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มต่อไปของประเทศคงหนีไม่พ้นการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านนโยบายรัฐสวัสดิการทั้งในแง่การศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคม รวมทั้งการประกันสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายให้กับภาครัฐ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาประเทศและการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่รัฐจะต้องวางแนวทางปฏิรูปและเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งการหารายได้เพิ่มเติม การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (PPPs) เพื่อแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งจะได้ไม่สร้างปัญหาและบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศโดยรวมในอนาคต

ท่านผู้มีเกียรติคะ

ดิฉันขอจบการกล่าวปาฐกถาโดยเปรียบประเทศไทยเสมือนนักสู้ที่มีความคล่องตัวสูง ทำให้พวกเราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกและวิกฤตทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป การอาศัยความคล่องตัวอย่างเดียวโดยไม่มีพละกำลังคงไม่เพียงพอที่เราจะต่อสู้กับคู่แข่งคู่ค้าที่มีแนวโน้มจะแข่งขันอย่างเข้มข้นมากขึ้น

การเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแกร่งของร่างกาย การพัฒนา Technique ใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะมีได้ในระดับประเทศนั้น ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมเสริมสร้างสมรรถนะของประเทศด้วยการลงทุนของภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ และเป็นการเติมเชื้อให้กับการลงทุนของภาคเอกชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ก็จะทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับประเทศ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบสถาบันการเงิน และสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ดิฉันเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันเช่นนี้ ประเทศไทยจะสามารถยืนหยัดได้ในเวทีโลกอย่างภาคภูมิและสมเกียรติ

ขอบคุณค่ะ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ