สุนทรพจน์: ความท้าทายในการบริหารจัดการธนบัตรของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 27, 2010 11:16 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุนทรพจน์กล่าวนำ

เรื่อง “ความท้าทายในการบริหารจัดการธนบัตรของไทย”

โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงาน “ธนบัตรไทย”

ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2553 เวลา 10.00 น.

----------------------------------------------------------------------

ท่านผู้บริหารสถาบันการเงิน

ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มากล่าวเปิดงานธนบัตรไทย และ กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “ ความท้าทายในการบริหารจัดการธนบัตรของไทย ” ในวันนี้

เดือนกันยายน พ.ศ. 2445 เป็นเดือนที่เปิดกรมธนบัตรและนำธนบัตรออกใช้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นเวลา 108 ปีแล้ว ช่วงแรก ธนบัตรที่ใช้เป็นธนบัตรที่พิมพ์จากต่างประเทศ จนกระทั่งเมื่อ ปี พ.ศ. 2512 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดตั้ง โรงพิมพ์ธนบัตรขึ้นเอง เพื่อทำหน้าที่ออกแบบและพิมพ์ธนบัตรใช้ในประเทศ นับตั้งแต่นั้นมา ธนบัตรไทยเป็นธนบัตรที่ออกแบบโดยคนไทยและพิมพ์ในประเทศไทย และเป็นสื่อกลางในการชำระเงินหลักของระบบเศรษฐกิจไทยที่ได้รับความเชื่อมั่น จนครั้งหนึ่งสามารถพิมพ์ธนบัตรให้กับต่างประเทศไปแล้วเสียด้วยซ้ำ

ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา โรงพิมพ์ธนบัตรได้มีการพัฒนาการออกแบบให้ธนบัตรมีความสวยงามของลวดลายบนธนบัตรที่มีเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ปรับปรุงขนาดธนบัตรให้เหมาะสมกับการใช้งาน พัฒนาและเพิ่มเติมลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงในธนบัตรให้ทันสมัย

ธนาคารแห่งประเทศไทย จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธนบัตรกระจายไปสู่มือประชาชนอย่างทั่วถึง และเพียงพอต่อความต้องการของระบบเศรษฐกิจ มีต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งสามารถบริหารจัดการให้ธนบัตรที่กระจายอยู่นั้น ให้มีสภาพสะอาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน และไม่มีธนบัตรปลอมปะปนอยู่ในระบบ ซึ่งจะลดความเชื่อมั่นในการใช้งานธนบัตร

ในช่วงก่อนปี 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่บริหารจัดการธนบัตรในทุกด้าน ตั้งแต่การจ่ายธนบัตรใหม่ การรับธนบัตรเก่ามานับคัด การทำลายธนบัตรที่มีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้หมุนเวียน และการรับแลกธนบัตรชำรุด

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทบทวนภารกิจหลักของธนาคารกลาง และเริ่มใช้นโยบายการบริหารจัดการธนบัตรขึ้นใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำหน้าที่เพียงการจ่ายธนบัตรใหม่เข้าสู่ระบบ รับธนบัตรเก่ากลับเข้ามาทำลาย และทำหน้าที่เพียงกำกับดูแลการยกระดับมาตรฐานระบบบริหารจัดการธนบัตรให้มีประสิทธิภาพ

ธนาคารแห่งประเทศไทย นำธนบัตรออกใช้สู่มือประชาชนผ่านศูนย์จัดการธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ระยอง พังงา สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ ซึ่งทำหน้าที่ส่งมอบธนบัตรให้กับศูนย์เงินสดกลางของสถาบันการเงิน ซึ่งจะส่งมอบต่อให้กับสาขาของสถาบันการเงินในเขตความรับผิดชอบ เพื่อกระจายธนบัตรให้กับประชาชนใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป

ปัจจุบันธนบัตรเป็นเงินตราและเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ธนบัตรหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,750 ล้านฉบับ เป็น 3,200 ล้านฉบับ เฉลี่ยปีละ 5-6% มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 450,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 950,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 9.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ โดยมีปริมาณธนบัตรชนิดราคา 20 บาท หมุนเวียนอยู่มากที่สุดประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณธนบัตรหมุนเวียนทั้งหมด และ มีมูลค่าธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท อยู่มากที่สุดประมาณร้อยละ 75 ของมูลค่าหมุนเวียน ทั้งนี้ ธนบัตรยังเป็นสื่อการชำระเงินที่มีความนิยมสูง เทียบกับต่างประเทศ ที่มีปริมาณธนบัตรหมุนเวียนต่อ GDP ที่ต่ำกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา และ แคนาดา ที่มีอัตราส่วนมูลค่าธนบัตรหมุนเวียนต่อ GDP ประมาณ 6% และ 3.5% ตามลำดับ

ความจริงก็อยากจะกล่าวตรงนี้ไว้ว่า ประเทศไทยมีคุณสมบัติของประเทศชั้นนำของโลกน้อยจัง ไม่มี Football World Cup หรือแม้เรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ได้เป็นการผูกขาดของประเทศขนาดยักษ์ เช่น การแข่งรถ Formula One ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงภูมิใจที่ช่วยให้ประเทศไทยมีคุณสมบัติของประเทศชั้นนำของโลกในด้านหนึ่ง คือ ธนบัตรในมือประชาชน และนักทัศนาจร สะอาด มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะจำเป็นต้องมีระบบบริหารการเงินที่มีมาตรฐาน ครอบคลุมถึงทุกจุดของประเทศ พวกเราก็เคยเดินทางไปต่างประเทศกันแทบทุกคน ก็นึกดูแล้วกันว่าประเทศชนิดไหน ธนบัตรสะอาด และประเทศชนิดไหนธนบัตรสกปรก ดังนั้น ผมจะขอกล่าวถึงโอกาสในการบริหารจัดการธนบัตรของไทยใน 2 เรื่อง คือ

1. การบริหารจัดการธนบัตรให้มีต้นทุนที่เหมาะสม

2. การดูแลสภาพธนบัตรให้มีความสะอาดและเหมาะสมต่อการใช้งาน

ท่านผู้มีเกียรติ
ความท้าทายเรื่องแรกในการบริหารจัดการธนบัตรของไทย คือ บริหารจัดการธนบัตรให้มีต้นทุนที่เหมาะสม โดยการสนับสนุนการรวมกลุ่มในการให้บริการด้านธนบัตร

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้สถาบันการเงินทำหน้าที่จัดการธนบัตรที่หมุนเวียนในระบบ สถาบันการเงินได้จัดตั้งศูนย์เงินสดกลางจำนวน 150 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการนับคัด รับจ่ายธนบัตรกับสาขาซึ่งทำหน้าที่กระจายธนบัตรกับระบบเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนโดยส่วนใหญ่ในการขนส่ง

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบงานจัดการธนบัตรร่วมกัน เพื่อผลักดันการลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ ซึ่งคณะทำงานฯดังกล่าว ได้ประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดขอบเขตการดำเนินการ ระยะเวลาการดำเนินการ ตลอดจนโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานด้านเงินสด เพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม อันได้นำไปสู่การรวมกลุ่มของศูนย์เงินสดกลางของสถาบันการเงิน และ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดมาตรฐานของศูนย์เงินสดกลาง การบริหารจัดการธนบัตร เช่น มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาคารสถานที่ มาตรฐานการดำเนินงานศูนย์เงินสดกลางในการนับคัดธนบัตรให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด และออกตรวจติดตาม ประเมินมาตรฐานศูนย์เงินสดกลาง เพื่อเสนอแนะการพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานของศูนย์เงินสดกลางของสถาบันการเงินต่อไป

ท่านผู้มีเกียรติ
ความท้าทายเรื่องที่สองในการบริหารจัดการธนบัตรของไทย คือ การยกระดับสภาพธนบัตร

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ติดตามสภาพของธนบัตร พบว่า ธนบัตรชนิดราคาสูง โดยเฉพาะชนิดราคา 1000 บาท และ 500 บาท มีสภาพดีเป็นที่น่าพอใจ แต่ธนบัตรชนิดราคาต่ำคือ 50 และ 20 บาท มีสภาพที่ไม่เหมาะสมสำหรับการหมุนเวียนอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากอัตราส่วนของปริมาณธนบัตรที่ต้องทำลายในแต่ละปีเทียบกับปริมาณธนบัตรหมุนเวียน มีการต้องทำลายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยอัตราการทำลายโดยเฉลี่ยของธนบัตรไทย อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 ในขณะที่อัตราการทำลายโดยทั่วไป เช่น สหภาพยุโรป หรือ มาเลเซีย อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 และประเทศที่มีการใช้ธนบัตรอย่างทะนุถนอม อย่างเช่น ญี่ปุ่น มีอัตราการทำลายโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 25

ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องทำลายธนบัตร ที่มีสภาพไม่เหมาะสมกับการใช้งานไม่ต่ำกว่าปีละ 2,500 ล้านฉบับ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งธนบัตรที่ต้องทำลายนั้น มีจำนวนไม่น้อยเกิดจากการใช้ธนบัตรอย่างไม่ทะนุถนอม ทำให้ธนบัตรเสื่อมสภาพเร็วเกินไป หรือเกิดจากการกระทำต่อธนบัตรอย่างไม่เหมาะสม เช่น การขีดเขียน ขยำ หรือประทับตราลงบนธนบัตร ส่งผลให้ธนบัตรมีอายุการใช้งานสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ธนาคารต้องใช้งบประมาณในการทำลาย และพิมพ์ธนบัตรใหม่ขึ้นมาทดแทนเป็นจำนวนมาก

ถนอมใช้อย่างรู้ค่า ร่วมรักษาธนบัตรไทย

เพื่อยืดอายุธนบัตรในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาและใช้กระดาษที่มีความทนทานต่อการใช้งานกว่ากระดาษทั่วไป แต่ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธนบัตรมีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น ก็คือการที่ประชาชนทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ ถนอมใช้ธนบัตรอย่างรู้ค่า ตระหนักและมีจิตสำนึกในการใช้ธนบัตรอย่างทะนุถนอมแล้ว การผลิตและการทำลายธนบัตรจะน้อยลง ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังช่วยให้ธนบัตรที่ใช้จ่ายมีสภาพดี น่าใช้ และทำให้การสังเกต หรือตรวจสอบธนบัตรว่าจริงหรือปลอม กระทำได้ง่ายขึ้น ทั้งในการสัมผัส ยกส่อง หรือ พลิกเอียง ธนบัตรที่มีสภาพใหม่ก็จะสามารถสังเกตลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงได้ชัดเจนกว่าธนบัตรที่มีสภาพเก่า

“รักษ์ธนบัตรไทย” สำเร็จได้ ด้วยความร่วมมือ

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ริเริ่มโครงการ “รักษ์ธนบัตรไทย” ขึ้น เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่าของธนบัตรและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนใช้ธนบัตรอย่างทะนุถนอม โครงการดังกล่าวจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมใจ จากทุกภาคส่วน ซึ่งในเบื้องต้นประชาชนทุกคนสามารถช่วยรักษาสภาพธนบัตรให้สะอาด และมีอายุการใช้งานที่นาน

โดยได้เริ่มจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้จัดให้มีการประกวดคำขวัญและตราสัญลักษณ์เพื่อใช้ในการเผยแพร่ รณรงค์ ประชาสัมพันธ์โครงการ ในโอกาสนี้ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล และขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวด ขอขอบคุณคณะกรรมการตัดสินผลการประกวด ที่สละเวลาร่วมคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก

โครงการ “รักษ์ธนบัตรไทย” จึงเป็นโครงการที่มุ่งมั่นสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของธนบัตร และใช้ธนบัตรอย่างทะนุถนอม เป็นการยกระดับคุณภาพธนบัตรที่ใช้หมุนเวียนในประเทศให้มีสภาพดี น่าใช้ ทำให้เกิดความพึงพอใจและเชื่อมั่นต่อธนบัตรไทย อันเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม

ท่านผู้มีเกียรติครับ

ท่านผู้ว่าการ ธาริษา วัฒนเกส ก็เป็นผู้ที่ผลักดันเรื่อง “รักษ์ธนบัตรไทย” นี้มาอย่างต่อเนื่อง และท่านก็จะเกษียณอายุ ในไม่กี่วันนี้ ในฐานะประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ผมอยากแสดงความขอบใจท่านไว้ในสาธารณะด้วยในโอกาสนี้ ท่านได้อุทิศชีวิตของท่านทั้งชีวิตอย่างอุตสาหะและสุจริต ทั้งในด้านธนบัตรไทยนี้ ด้าน Inflation Targeting ที่ท่านได้สามารถทำได้สำเร็จ ให้เป็นที่วางใจและไว้ใจของประชาชน และไม่น้อยก็คือ ดูแลการขายธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาออกไปได้ด้วยดีสองธนาคาร ซึ่งเป็นการเสี่ยงตัวเป็นอย่างมาก เพราะจะต้องรับผิดชอบความสำเร็จให้ขายได้ โดยรัฐไม่เสียหาย จึงขอขอบคุณท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ