ฉบับที่ 11/2553
ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2553 ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2553 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยการส่งออกชะลอตัวเนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะประเภทอาหารในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปที่ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวหดตัว ส่งผลให้การค้าและการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง ทางด้านการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวเป็นผลจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรน้อยกว่าปีก่อนแต่หากรวมการเบิกจ่ายโครงการไทยเข้มแข็งแล้วการเบิกจ่ายโดยรวมยังเพิ่มขึ้น ด้านรายได้ของเกษตรกรขยายตัวในเกณฑ์สูงจากผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำช่วยให้ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อ ทางด้านเงินเฟ้อชะลอตัวเล็กน้อย สำหรับเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวดี
อุปสงค์ของภาคเหนือขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ตามปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะในหมวดการค้าส่งค้าปลีก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ของเกษตรกรและภาวะการท่องเที่ยวที่ชะลอลง ส่วนปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังขยายตัวดีเนื่องจากกิจกรรมการส่งเสริมการขายและเงื่อนไขผ่อนชำระที่จูงใจ ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ตามปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องจักรเพื่อขยายการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตที่ชะลอตัวลง ส่วนพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลหดตัว อย่างไรก็ดี กิจกรรมการก่อสร้างและต่อเติมเพื่อที่อยู่อาศัยยังมีต่อเนื่อง สำหรับมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ในภาคเหนือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 ทางด้านการเบิกจ่ายของภาครัฐซึ่งเป็นแรงกระตุ้นสำคัญยังหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนผลจากงบประมาณที่ได้รับจัดสรรน้อยกว่าปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากรวมการเบิกจ่ายโครงการไทยเข้มแข็งแล้ว การเบิกจ่ายโดยรวมของภาคเหนือยังคงเพิ่มขึ้น
ทางด้านอุปสงค์ในต่างประเทศ การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 250.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 20.6 ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรสำเร็จรูปที่ชะลอลงประกอบกับการส่งออกอาหารเกษตรแปรรูปหดตัวเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อทำการผลิตเป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เป็น 93.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการส่งออกไปลาวและจีนตอนใต้เพิ่มขึ้น ด้านการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 130.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 22.5 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยชะลอลงทั้งการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ภาคการผลิตหดตัวทั้งผลผลิตด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม จากผลกระทบของภัยแล้งเป็นสำคัญ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือหดตัวร้อยละ 21.4 ตามการลดลงของอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการแปรรูปผักผลไม้และลำไยอบแห้งที่ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการผลิตวัสดุก่อสร้างชะลอตัวลง ผลผลิตด้านการเกษตรพืชสำคัญหดตัวร้อยละ 9.5 ตามการลดลงของผลผลิตลำไยและหอมแดงที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนผลผลิตข้าวนาปรังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือยังเพิ่มขึ้นเนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกทั้งนี้ รายได้เกษตรกรยังขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 49.6 แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน ผลจากภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากปกติมาก เช่น ลำไย มันสำปะหลัง ด้านการท่องเที่ยวทรงตัวจากเดือนก่อนแต่หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากความกังวลของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเป็นสำคัญ ภาษีมูลค่าเพิ่มโรงแรมและภัตตาคารลดลงร้อยละ 2.3 ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการใช้บริการของกลุ่มผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการในจังหวัดสำคัญของภาคเหนือ ทางด้านดัชนีการค้าขยายตัวร้อยละ 17.0 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.8 ตามการชะลอลงของหมวดค้าส่งและค้าปลีกโดยเฉพาะในสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และวัสดุก่อสร้าง
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนืออยู่ที่ร้อยละ 3.7 ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ตามราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ชะลอลง จากร้อยละ 0.9 เดือนก่อนเล็กน้อย
การจ้างงานในภาคเหนือเดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาสำคัญ การว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ต่ำกว่าเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน
ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ เพียงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจำนวนเงินฝากลดลง 5,889 ล้านบาท เนื่องจากการถอนเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเพื่อนำไปใช้ในโครงการต่างๆ เป็นสำคัญ ด้านเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 10.4 ตามความต้องการสินเชื่อของหลายภาคธุรกิจ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจแปรรูปผลผลิตการเกษตร ค้าปลีกค้าส่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หอพักรับเหมาก่อสร้าง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเช่าซื้อรถยนต์
ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณทวีศักดิ์ ใจคำสืบ
โทร 0 5393 1162
E-mail: [email protected]
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย