การประชุมคณะมนตรีขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 26, 2010 16:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะมนตรีขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียแปซิฟิก ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า ได้ส่งคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีขององค์การ APSCO ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2553 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทก. สรุปสาระสำคัญดังนี้

1.1 การประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO ครั้งที่ 3 มีรัฐสมาชิกเข้าร่วมการประชุมจำนวน 9 ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาชนบังคลาเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อินโดนีเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน สาธารณรัฐเปรู สาธารณรัฐตุรกี และประเทศไทย โดยผู้แทนประเทศไทยได้รับเกียรติจากรัฐสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีองค์การ APSCO (ตามมติที่ประชุม Second Meeting of the Ad Hoc Committees for Financial Arrangements and Service Regulations for APSCO) โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ในการนี้ ทก. โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แต่งตั้ง นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นผู้แทนประเทศไทยเพื่อดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีองค์การ APSCO สำหรับรองประธานคณะมนตรี ได้แก่ Mr. Chen Qiufa, Vice Minister of Ministry of Industry and Information Technology (MIIT) และ Administrator of China National Space Administration (CNSA) จากสาธารณ รัฐประชาชนจีน

1.2 ที่ประชุมคณะมนตรีขององค์การ APSCO ครั้งที่ 3 ได้มีมติที่สำคัญ ดังนี้

1) รับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินโครงการทั้ง 5 โครงการ ดังนี้

  • Proposal for Spatial Data Sharing Service Platform and Its Application Pilot Project
  • Proposal for APSCO Applied High Resolution Satellite Project.
  • Research on Atmospheric Effects on:
  • Ka Band Rain Attenuation Modelling; and
  • Ionospheric Modelling through Study of Radio Wave Propagation and Solar Activity.
  • Development of Asia-Pacific Ground Based Optical Satellite Observation System (APOSOS).
  • Feasibility Study of the Applications of Compatible Navigation Terminal System.

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ขอให้ทุกรัฐมีส่วนร่วมในการศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละโครงการเพื่อนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ต่อที่ประชุมคณะมนตรีในคราวต่อไป

2) เห็นชอบรายงานการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ Spatial Data Sharing Service Platform and Its Application Pilot Project of APSCO

3) เห็นชอบ Terms of Conditions for Associate Members of APSCO ซึ่งกำหนดให้รัฐที่มิได้อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ APSCO ในฐานะสมาชิกสมทบได้

4) เห็นชอบ Service Rules และ Financial Rules ตามที่สำนักงานเลขาธิการฯ ได้แก้ไขปรับปรุงให้มีความเหมาะสม ตามข้อเสนอแนะของรัฐสมาชิก

5) เห็นชอบประมาณการงบประมาณขององค์การ APSCO ประจำปี 2554 จำนวน 3,707,442 เหรียญสหรัฐ

6) เห็นชอบให้บรรจุโครงการ Geostationary Telecommunication Satellite และโครงการร่วมสร้าง Small Student Satellite ในแผนงานโครงการขององค์การ APSCO ในส่วนของกิจกรรมทางเลือก เพื่อให้รัฐสมาชิกแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจ

7) เห็นชอบให้จัดการประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO ครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนมกราคม 2554 ณ ประเทศไทย

ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ

1. รับความร่วมมือทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศ ด้านการวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด

2. เป็นการกระตุ้นและขยายกิจกรรมด้านอวกาศที่มีประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับพหุภาคี กล่าวคือ การประสานงานเพื่อเพิ่มความสามารถของประเทศ รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างยั่งยืน

3. เป็นการสร้างสัมพันธภาพกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และอีกหลายประเทศในภูมิภาค ที่จะทำให้มีการขยายความร่วมมือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคได้ในอนาคต

4. การพัฒนาด้านการสื่อสาร ด้านการสำรวจและป้องกันภัยพิบัติ ด้านอุตุนิยมวิทยา รวมทั้ง ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี จากการศึกษา วิจัย ค้นคว้าร่วมกันภายใต้ความร่วมมือในสาขาแห่งกิจกรรมที่จะกำหนดไว้ ในอนุสัญญาฯ

5. การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศที่มีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศ หากสามารถเข้าร่วมโครงการพัฒนาและการผลิตร่วมกับประเทศสมาชิก อีกทั้งทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคคล และการพัฒนาสถาบันทางวิชาการด้านอวกาศ เพื่อรองรับการพัฒนาอาชีพของคนไทยในอนาคต

อนึ่ง การประชุมคณะมนตรีขององค์การ APSCO ครั้งที่ 4 จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ครั้งสุดท้ายของผู้แทนประเทศไทยในฐานะประธานคณะมนตรีคนแรก และเป็นการส่งมอบหน้าที่ให้กับประธานคณะมนตรีคนต่อไป ซึ่งที่ประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO ครั้งที่ 3 ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีองค์การ APSCO ครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนมกราคม 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ