โครงการไปรษณีย์เพื่อสินเชื่อรายย่อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 8, 2010 15:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบหลักการในการจัดตั้งบริษัทในเครือของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เพื่อดำเนินโครงการไปรษณีย์เพื่อสินเชื่อรายย่อย

2. อนุมัติร่างบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่าง 2 กระทรวง ตามที่เสนอเพื่อจะได้ดำเนินการต่อไป

3. เห็นชอบให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารร่วมกับ ปณท รับไปดำเนินการในการจัดตั้งบริษัทในเครือและดำเนินการจัดทำรายละเอียดแผนธุรกิจโครงการดังกล่าวต่อไป

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงบประมาณ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 ตุลาคม 2553) อนุมัติในหลักการโครงการไปรษณีย์เพื่อสินเชื่อรายย่อย ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายรัฐบาล และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) รับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับ ทก. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ (สงป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดต่างๆ เช่น รูปแบบและแผนการดำเนินการ ประมาณการงบประมาณ แผนการปล่อยสินเชื่อ แผนบริหารความเสี่ยง และการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยให้นำความเห็นของ กค. สศช. และ สงป. ไปประกอบการพิจารณาด้วย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป

2. กค.รายงานว่า ได้เชิญประชุมหารือร่วมกับ สศช. สงป. ทก. และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อหาแนวทางและรายละเอียดในการดำเนินโครงการไปรษณีย์เพื่อสินเชื่อรายย่อย โดยที่ประชุมได้ให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะในการดำเนินโครงการ ดังกล่าว ซึ่ง กค.ได้นำข้อมูลและความเห็นจากการประชุมมาประกอบการพิจารณารายละเอียดของโครงการฯ แล้วสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 รูปแบบโครงการ

ในเบื้องต้นเห็นควรให้ ปณท จัดตั้งบริษัทในเครือโดยถือหุ้นร้อยละ 100 และถือปฏิบัติตามแนวทางการจัดตั้งบริษัทในเครือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 รวมถึงการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งบริษัทตลอดจนการดำเนินธุรกิจในการให้สินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ ให้ กค. และ ทก. ร่วมกันกำกับดูแลการดำเนินการของบริษัทในเครือดังกล่าวตามร่างบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

2.2 วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายของโครงการ

เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้ที่ยากจน รวมถึงผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบและมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้นอกระบบและอาจรวมถึงผู้ที่มีเงินออมแต่ไม่เพียงพอในกรณีฉุกเฉิน โดย ณ สิ้นปี 2552 ประชากรทั้งประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 19 ล้านครัวเรือน หรือ 64 ล้านคน เป็นผู้ที่มีหนี้สิน 12 ล้านครัวเรือน หรือ 47.6 ล้านคน หากสำรวจข้อมูลเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน (อายุ 20-59 ปี) ทั้งประเทศประมาณ 38 ล้านคน พบว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ที่เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินประมาณ 20 ล้านคน ส่วนที่เหลือ จำนวน 18 ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสถาบันการเงินได้ และส่วนหนึ่งอาจเป็นหนี้นอกระบบ (ประมาณ 4 ล้านคน) โดยที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่อาจเป็นผู้ที่มีรายได้ในระดับต่ำกว่าเส้นความยากจนซึ่งมีจำนวนทั้งประเทศประมาณ 4.8 ล้านคน จึงได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้ (1) ประชาชนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน (2) ประชาชนที่มีรายได้เท่ากับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เช่น กรุงเทพฯ วันละ 206 บาทต่อวันหรือประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน (3) ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน/เป็นหนี้นอกระบบหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้นอกระบบ

2.3 รูปแบบผลิตภัณฑ์

เป็นการให้สินเชื่อตามประเภทกลุ่มเป้าหมาย โดยวงเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับการพิจารณารูปแบบของผลิตภัณฑ์ซึ่งควรมีความหลากหลายให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สำหรับการชำระคืนเงินกู้อาจจะพิจารณาให้ชำระเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน ส่วนหลักประกันในการกู้เงินอาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ หรือประเภทของผลิตภัณฑ์ เช่น กรณีกู้เดี่ยวไม่ต้องมีการค้ำประกันขึ้นอยู่กับการ พิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ กรณีกู้เป็นกลุ่มให้ค้ำประกันในลักษณะเป็นกลุ่ม ฯลฯ ทั้งนี้รูปแบบผลิตภัณฑ์ ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของบริษัท ในเครือ

2.4 เขตพื้นที่การให้บริการ

ในเบื้องต้นเห็นสมควรดำเนินการในลักษณะนำร่องให้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยประมาณ 10 สาขา (กรุงเทพฯ ภาคเหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก ตะวันตก และตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยให้บริษัทในเครือของ ปณท มีสิทธิในการใช้สถานที่และเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์ของ ปณท ได้ สำหรับเงื่อนไขในการใช้สถานที่ดังกล่าวให้ไปพิจารณารายละเอียดต่อไป

2.5 งบประมาณ

(1) ทุนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 50 ล้านบาท จาก ปณท

(2) ให้ กค. เป็นผู้พิจารณาจัดหาเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินโครงการฯ ตามความเหมาะสม

2.6 การเตรียมความพร้อม

(1) เตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร สถานที่ที่จะนำร่อง ตลอดจนการฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการมีพี่เลี้ยงเพื่อสร้างความรู้ด้านการอนุมัติสินเชื่อและการสร้างระบบงานเพื่อรองรับการดำเนินงาน เช่น ระบบการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อ ระบบการตรวจสอบและติดตามหนี้

(2) การประชาสัมพันธ์ต้องสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนว่าเป็นการให้โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินและต้องมีการชำระคืนพร้อมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และขั้นตอนต่างๆ

(3) ขั้นตอนการพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อต้องมีความสะดวกรวดเร็ว โดยลดขั้นตอนและเอกสารที่จะต้องใช้ในการประกอบการพิจารณา เช่น มีขั้นตอนการยื่นขอกู้และคัดกรองคุณสมบัติเบื้องต้น และขั้นตอนการประเมินและอนุมัติสินเชื่อ

(4) การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า เช่น มีการเยี่ยมลูกค้า มีการสังเกตการประกอบอาชีพ การสร้างความเข้าใจและแนะนำแนวทางแก้ไข (หากมีการผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละงวด) เป็นต้น

(5) การรับชำระเงินกู้ สามารถชำระเงินกู้ได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์

(6) ติดตามการชำระคืนหนี้ที่ผิดนัด เช่น การติดตามหนี้เป็นรายบุคคล การผ่อนปรนจำนวนเงินหรืองวดที่ชำระคืน และปรับโครงสร้างหนี้ เป็นต้น

2.7 แนวทางการดำเนินการ

ภายหลังที่ได้มีการจัดตั้งบริษัทในเครือดังกล่าวและได้มีการดำเนินธุรกิจแล้ว เห็นควรให้ ปณท พิจารณาแนวทางให้พันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในบริษัทในเครือดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจและหรือสถาบันการเงินเอกชน เพื่อให้บริษัทในเครือดังกล่าวมีความคล่องตัวในการดำเนินการเชิงธุรกิจ สำหรับการดำรงสัดส่วนการถือครองหุ้นของ ปณท ในบริษัทดังกล่าว ควรเป็นไปตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น พร้อมทั้งให้มีการขยายขอบเขตการดำเนินการให้ครอบคลุมธุรกิจด้านการเงินแบบครบวงจรทั้งด้านการรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อ (Microfinance) ภายในระยะเวลา 2 ปี

2.8 การประเมินผลโครงการ

ควรมีการประเมินการดำเนินโครงการหลังจากที่มีการประกอบธุรกิจไปแล้วประมาณ 6 เดือน โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความสม่ำเสมอในการชำระหนี้ของลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และวิเคราะห์ปัญหาที่ เกิดขึ้น เป็นต้น เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดเพื่อประกอบการพิจารณาวางแผนขยายสาขาต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ