รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2552 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้มอบหมายให้ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดทำข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2552 โดยมีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมข้อมูลประชากรผู้สูงอายุ สถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ การดูแลและสวัสดิการของผู้สูงอายุ การทำงาน รายได้ และการออมของผู้สูงอายุ การเข้าถึงข้อมูลการศึกษา การศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ศักยภาพของผู้สูงอายุ สถานการณ์เด่นผู้สูงอายุไทย ปี พ.ศ. 2552 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สรุปได้ดังนี้

1.1 ข้อมูลประชากรผู้สูงอายุไทย ในปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป 7.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 17.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 (1 ใน 4) ของประชากรทั้งหมด จากข้อมูลสำมะโนประชากร คาดการณ์แนวโน้มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 - 2573 เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลตามทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 มีผู้สูงอายุจำนวน 7.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.5 ของประชากรทั้งหมด การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ เป็นผลมาจากการลดลงของอัตราเจริญพันธุ์รวมที่ลดเหลือ 1.85 ต่ำกว่าระดับทดแทน (รุ่นต่อรุ่น) โดยสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุวัยกลาง (70 - 79 ปี) และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) เพิ่มสูงขึ้น เพศหญิงมีมากกว่า และอายุยืนยาวกว่าเพศชายการกระจายตัวเชิงพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2552 จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากสูงสุด 3 อันดับแรก (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ) ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น และเชียงใหม่ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนประชากรทั้งหมดในพื้นที่ จังหวัดที่มีร้อยละของผู้สูงอายุมากสุด 3 อันดับแรก (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ) ได้แก่ สิงห์บุรี สมุทรสงคราม และชัยนาท จากทั้งหมด 76 จังหวัด ส่วนใหญ่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เหลือเพียง 17 จังหวัด ที่จำนวนผู้สูงอายุต่ำกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด มีผู้สูงอายุพักอาศัยในเขตเมือง ร้อยละ 34 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตเมือง จากข้อมูลทะเบียนราษฎรปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุ 100 ปีขึ้นไป 13,692 คน (ข้อมูลมีข้อจำกัดอาจจะคลาดเคลื่อน)

1.2 สถานการณ์ด้านสุขภาพ จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551 - 2552 พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประเมินว่ามีสุขภาพปานกลางถึงดีมาก ประมาณร้อยละ 70 - 80 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เมื่ออายุมากขึ้นจะประเมินสุขภาพตนเองไม่ดีลดลงตามช่วงอายุ และผู้สูงอายุชายประเมินสุขภาพตนเองว่าปานกลาง ดี และดีมากสูงกว่าผู้สูงอายุหญิง ผู้สูงอายุ 1 ใน 5 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด เป็นโรคต้อกระจก เป็นโรคนี้มากขึ้นตามช่วงอายุ ผู้สูงอายุหญิงเป็นมากกว่าชาย ผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีปัญหาการได้ยิน และมีปัญหานี้มากขึ้นตามช่วงอายุ ผู้สูงอายุชายเป็นมากกว่าหญิง ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งหนึ่งมีฟันที่ใช้งานได้ไม่ครบ 20 ซี่ และเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น แต่มีผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 29.1 ที่ใส่ฟันทดแทนผู้สูงอายุส่วนใหญ่สามารถปฏิบัติกิจกรรมประจำวันพื้นฐานได้เกือบร้อยละ 100 ยกเว้นปัญหาเรื่องการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ มีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ผู้สูงอายุหกล้มร้อยละ 18.5 โดยผู้สูงอายุหญิงหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุชายเกือบ 1 เท่า ผู้สูงอายุครึ่งหนึ่งหกล้มนอกบริเวณบ้าน เป็นผู้สูงอายุชายมากกว่าผู้สูงอายุหญิง ร้อยละ 59.5 ปี พ.ศ. 2552 มีผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคเอดส์ (รายใหม่) จำนวน 167 ราย ลดลงกว่าเดิม ผู้สูงอายุชายเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์สูงกว่าหญิง ผู้สูงอายุเกิดการเจ็บป่วย หรือรู้สึกไม่สบาย ร้อยละ 38.4 โรคหรืออาการป่วยครั้งสุดท้ายของผู้สูงอายุที่พบบ่อย 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1)โรคระบบทางเดินหายใจ 2) ท้องร่วง/ท้องเสีย/บิด 3) โรคในช่องปาก/ฟันผุ/โรคเหงือก 4) ปวดท้อง/ท้องอืด/ท้องเฟ้อ/โรคกระเพาะ และ 5) ปวดหลัง/ปวดกล้ามเนื้อ ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 48.8 ได้รับอุบัติเหตุจากการหกล้ม ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 54.9 มีโรคเรื้อรัง/ประจำตัว 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1) โรคหัวใจและหลอดเลือด 2) โรคของต่อมไร้ท่อ และ 3) โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก และข้อ ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 53.8 ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี เมื่อเจ็บป่วยผู้สูงอายุเข้ารับบริการรักษาในสถานพยาบาล ร้อยละ 10.1 ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลศูนย์ร้อยละ 45.7 รองลงมาเป็นโรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 37.8 โดยใช้บัตรทอง/ประกันสังคมร้อยละ 45.0 และผู้สูงอายุไปใช้สถานบริการทันตกรรมที่เป็นสถานบริการภาครัฐ ร้อยละ 66.7 โดยใช้สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ด้านพฤติกรรมสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่บริโภคอาหารมื้อหลักครบวันละ 3 มื้อ ร้อยละ 88.5 เน้นผักและผลไม้ ร้อยละ 61.3 และส่วนใหญ่ไม่รับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพผู้สูงอายุวัยต้น (60-69ปี) สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์สูงกว่ากลุ่ม วัยกลาง และวัยปลาย เมื่ออายุมากขึ้นสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ลดลง เช่นเดียวกับการทำกิจกรรมทางกายลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุในชนบทออกกำลังกายมากกว่าครึ่ง ร้อยละ 68.8 แต่ผู้สูงอายุจะออกกำลังกายลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

1.3 การดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุ การดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ยังเป็นบทบาทหน้าที่ซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐ และการดำเนินงานด้านนโยบายการดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุ โดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) มีองค์ประกอบผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 28 คน การจัดสวัสดิการด้านรายได้สำหรับผู้สูงอายุ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กองทุนผู้สูงอายุ การให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาสและประสบความเดือดร้อน การช่วยเหลือค่าจัดการศพแก่ผู้สูงอายุที่เสียชีวิต การดูแลด้านสุขภาพ และสังคมในครอบครัวและชุมชน ได้แก่ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่บ้าน (Home Health Care) วัดส่งเสริมสุขภาพ การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุในชุมชน การดูแลที่บ้านสำหรับผู้สูงอายุกลุ่มพึ่งพา การส่งเสริมงานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) ปี พ.ศ. 2552 มีจำนวน 9,894 คน มีจำนวนผู้สูงอายุที่ได้รับการดูแล 91,794 คน อาสาสมัคร “เพื่อนช่วยเพื่อน” มีจำนวน 5,250 คน ได้ดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 3,750 คน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุ ได้แก่ ศูนย์อเนกประสงค์สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุดินแดง กรุงเทพมหานคร การส่งเสริมให้มีการจัดสภาพ แวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนและการจัดสวัสดิการที่อยู่อาศัย ซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2552 มีจำนวน 2,523 หลัง และซ่อมแซมสถานที่จัดกิจกรรมชุมชน 900 แห่ง การดูแลผู้สูงอายุในสถาบัน ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 12 แห่ง มีขีดความสามารถในการรับผู้สูงอายุเข้าพำนักอาศัยได้ จำนวนประมาณ 1,500 คน โดยในปี พ.ศ. 2552 มีจำนวนผู้สูงอายุ 1,213 คน และมีสถานสงเคราะห์คนชรา จำนวน 13 แห่ง อยู่ภายใต้ความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ให้การดูแลผู้สูงอายุรวมจำนวน 1,158 คน ศูนย์บริการผู้สูงอายุบ้านบางแค 2 กรุงเทพมหานคร ได้ให้การช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุ รวมจำนวน 1,100 ราย นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีบริการ “บ้านพักฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ” อีกด้วย การคุ้มครองดูแลผู้สูงอายุด้านกระบวนการ ยุติธรรม ปี พ.ศ. 2552 มีผู้ต้องขังสูงอายุที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน 129 แห่งทั่วประเทศ และได้รับการดูแลจำนวน 3,737 คน

1.4 การทำงาน รายได้ และการออมของผู้สูงอายุ จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2552 พบว่า ผู้สูงอายุที่ทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37.2 โดยสัดส่วนการทำงานของผู้สูงอายุชายจะสูงกว่าหญิง และผู้สูงอายุในภาคใต้จะมีสัดส่วนการทำงานสูงที่สุดถึง ร้อยละ 41.9 การทำงานของผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุยังคงทำงานในด้านเกษตรกรรม แต่มีแนวโน้มการทำงานนอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 41.4 สถานภาพการทำงาน พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.1 ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง และมีสัดส่วนการเป็นลูกจ้างเอกชนลดลงร้อยละ 12.7 แต่ผู้สูงอายุที่เป็นลูกจ้างรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ยและชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ย 6,831 บาทต่อเดือน และชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 43.6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แรงงานผู้สูงอายุนอกระบบ คิดเป็นร้อยละ 91.0 โดยสัดส่วนผู้สูงอายุหญิงทำงานนอกระบบ ร้อยละ 92.6 และสัดส่วนผู้สูงอายุชายที่ทำงานนอกระบบ ร้อยละ 90.0 ผู้สูงอายุที่ทำงานนอกระบบ ร้อยละ 16.6 เคยได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการทำงาน แต่การรักษาตัวในโรงพยาบาล(คนไข้ใน) ลดลงเป็นร้อยละ 8.8 และมีแนวโน้มการใช้บัตรประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68.0 รวมทั้งการใช้บริการจากบริษัทประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.9 ข้อมูลปี พ.ศ. 2551 พบว่า มูลค่าการออมส่วนบุคคลได้เพิ่มขึ้นเป็น 675,801 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนการออมนี้จะส่งผลต่อรายได้และการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคลเมื่อถึงวัยสูงอายุ จึงควรสร้างวินัยการออมตั้งแต่เยาว์วัย ปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการนโยบายส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพ โดยได้เสนอร่าง พ.ร.บ. กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... คณะรัฐมนตรีรับหลักการ และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

1.5 การเข้าถึงข้อมูลการศึกษาและการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต ปี พ.ศ. 2552 มีผู้สูงอายุเข้ารับการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 159,221 คน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ผ่านทางช่องรายการสถานี โทรทัศน์ ETV การรับฟังรายการวิทยุทั้ง FM และ AM การชมนิทรรศการ การใช้บริการห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ ในชุมชน และเว็บไซต์ รูปแบบการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การศึกษาเรียนรู้กระบวนการชราภาพตั้งแต่วัยเยาว์ มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 22,425 แห่ง ได้จัดทำหลักสูตรเรียนรู้กระบวนการชราภาพให้กับนักเรียน มีผู้สูงอายุเข้ารับการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา จำนวน 7,283 คน ผู้สูงอายุที่ต้องการเพิ่มวุฒิการศึกษา โดยเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีการศึกษา 2552 มีจำนวน 3,623 คน ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในกลุ่มมหาวิทยาลัยภาครัฐ การศึกษาต่อเนื่อง (หลักสูตรระยะสั้น) สำหรับผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน มีผู้สูงอายุเข้าร่วมจำนวน 90,103 คน

1.6 ศักยภาพของผู้สูงอายุ ศักยภาพผู้สูงอายุด้านการประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้ปีงบประมาณ 2552 กองทุนผู้สูงอายุได้ให้การสนับสนุนการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคลแก่ผู้สูงอายุ 3,138 ราย และรายกลุ่มแก่ผู้สูงอายุ จำนวน 22 กลุ่ม เงินอนุมัติไปแล้ว 53.15 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการประกอบอาชีพเกษตรกรรมผู้ขอกู้ยืมรายบุคคลได้รับการอนุมัติเพียงบางส่วน แสดงว่า ผู้สูงอายุมีความต้องการในการประกอบอาชีพเป็นจำนวนมาก แต่ยังมีปัญหาในด้านการเข้าถึงแหล่งทุน มีผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ มีรายได้เสริมจากการเป็นวิทยากร จำนวน 2,402 คน สนับสนุนโดยศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ศักยภาพผู้สูงอายุด้านการพัฒนาตนเองและกลุ่ม ปี พ.ศ. 2552 มีชมรมผู้สูงอายุที่เป็นเครือข่ายกับสมาคมสภาผู้สูงอายุฯ จำนวน 21,155 ชมรม มีผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากสังคม ได้แก่ การประกาศสดุดีเกียรติคุณเป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ ศิลปินแห่งชาติ ได้รับรางวัลเชิดชูผู้ทำความดี และได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เช่น รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ศักยภาพด้านการอนุรักษ์และการถ่ายทอดภูมิปัญญา มีโครงการคลังปัญญาผู้สูงอายุ ครูภูมิปัญญาไทย วุฒิอาสาธนาคารสมอง อาจารย์วัยเกษียณในสถาบันอุดมศึกษา และโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ

1.7 สถานการณ์เด่นของผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 เนื้อหาสถานการณ์เด่นของผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ. 2552 มุ่งเน้นการวิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อให้เห็นแนวโน้ม และทิศทางงานผู้สูงอายุต่อไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การสรรหาผู้สูงอายุแห่งชาติ ประจำปี 2552 ได้แก่ ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา 2) การปรับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) 3) การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว จาก ... มติสมัชชาผู้สูงอายุ ... สู่มติสมัชชาสุขภาพ 4) สถานการณ์ผู้สูงอายุในรอบปี 2552 จากสื่อมวลชน สิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ที่นำเสนอข้อมูล ความรู้ ทั้งด้านนโยบายรัฐบาล ผลงานวิชาการ การจัดบริการ และรูปแบบกิจกรรมผู้สูงอายุ

1.8 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1.8.1 ประเด็นการสร้างระบบความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับผู้สูงอายุ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเร่งรัดผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยพัฒนาระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ตอบสนองและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ผลักดันเครื่องมือการออมให้มีความหลากหลาย ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี เร่งรัดให้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. .... (กอช.) ผ่านกระบวนการทางกฎหมายผ่านสภาฯ เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว กระตุ้นเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในท้องถิ่น โดยให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือสำคัญการออมในพื้นที่ เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ และเร่งพิจารณาหามาตรการลดการกีดกันทางอาชีพ ระหว่างผู้สูงอายุกับวัยอื่น ๆ ระหว่างชายกับหญิง โดยผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานสำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อให้ผู้สูงอายุมีงานทำ มีรายได้ มีสวัสดิการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น

1.8.2 ประเด็นการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ รัฐบาลเร่งรัดผลักดันให้มีการบริการการดูแลระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมทุกภาคส่วน ภาครัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการ และผลักดันให้องค์กร เอกชนที่ไม่แสวงหากำไร หรือธุรกิจเพื่อสังคม เข้ามามีส่วนร่วมจัดบริการเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ และเร่งรัดพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ เพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น ส่งเสริมครอบครัว และชุมชน ให้ดูแลสุขภาพโดยพัฒนารูปแบบบริการในชุมชน และบริการทางสังคม รัฐบาลจัดตั้งและส่งเสริมกลุ่มย่อยให้สามารถดูแลกันในชุมชน สร้างกลไกย่อยในชุมชน เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อการดูแลทางสังคม โดยส่งเสริมบทบาทของภาคประชาสังคม อาสาสมัครในการบริการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

1.8.3 ประเด็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเป็นผู้สูงอายุและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน รัฐบาลต้องให้การส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตรงตามความต้องการของผู้สูงอายุ ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และรูปแบบการเรียนที่หลากหลาย สร้างสื่อการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ จึงควรมีการผลิตสื่อ ทั้งประเภทเนื้อหา รูปแบบที่ผู้สูงอายุนิยม ควรเพิ่มช่องทางสื่อโทรทัศน์ของรัฐ ของสถานศึกษา และของท้องถิ่น และส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงทางสุขภาพทั้งการบริโภค และการออกกำลังกาย ใช้ชีวิตประจำวันที่เหมาะสมกับวัย มีการพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในช่วงวัยผู้สูงอายุ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 21 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ