ระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ (Procedures of Water Quality)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมเสนอ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำในนามรัฐบาลไทย โดยสามารถปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยได้

สาระสำคัญของร่างระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ เป็นเอกสารแสดงคำมั่นของประเทศภาคีสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์และได้รับประโยชน์ร่วมกันจากการใช้น้ำของลุ่มแม่น้ำโขงอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมในอาณาเขตประเทศตน ดังมีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

1. คำนิยาม คุณภาพน้ำที่ดี/ยอมรับได้ หมายถึง น้ำที่มีคุณภาพซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตามที่ประเทศภาคีสมาชิกจะกำหนดร่วมกัน สำหรับคำนิยามอื่นจะปรากฏอยู่ในแนวทางด้านเทคนิค โดยคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีหน้าที่ในการทบทวนและปรับปรุงเป็นระยะ

2. วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือในการรักษาคุณภาพน้ำที่ดี/ยอมรับได้ อันจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง

3. แนวทางการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำและการตระหนักถึงหลักการที่กำหนดไว้ ประเทศภาคีสมาชิกพึง 1) พยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาคุณภาพน้ำที่ดี/ยอมรับได้ของ แม่น้ำโขงสายประธาน 2) เสริมสร้างความเข้มแข็งของแผนงานภายใต้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่มีอยู่ หรือหากจำเป็นก็อาจจัดตั้งแผนงานขึ้นใหม่ เพื่อทำหน้าที่ติดตามและประเมินคุณภาพน้ำของแม่น้ำโขงสายประธาน 3) ร่วมกันพัฒนาแนวทางด้านเทคนิค สำหรับดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4) ดำเนินการวิจัยเพื่อกลั่นกรองแนวทางด้านเทคนิค สนับสนุนการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ

4. สถานการณ์ฉุกเฉินด้านคุณภาพน้ำ ประเทศภาคีสมาชิก จะจัดทำแผนตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินด้านปัญหาคุณภาพน้ำ ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินใดๆ พึงต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเท่าที่จะเป็นไปได้ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และ 10 ของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 รวมถึงระเบียบปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

5. การมีส่วนร่วมของสาธารณะ ประเทศภาคีสมาชิก พึงส่งเสริมให้สาธารณชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมในการรักษาคุณภาพน้ำที่ดี/ยอมรับได้

6. การจัดองค์กร การดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติด้านคุณภาพน้ำ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเข้มแข็งจาก 1) คณะมนตรีฯ มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบปฏิบัติ ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และระเบียบปฏิบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2) คณะกรรมการร่วมฯ มีหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็ง รักษา หรือในกรณีจำเป็นอาจติดตั้งสถานีตรวจสอบคุณภาพน้ำขึ้นใหม่ การจัดตั้งกรอบการบริหารจัดการคุณภาพน้ำ ประสานงานกับคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ ในการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล พร้อมทั้งจัดทำ รับรอง และทบทวนแนวทางด้านเทคนิค ภายใต้ระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ 3) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มีหน้าที่สนับสนุนด้านการบริหาร/เทคนิค การอำนวยความสะดวกแก่คณะกรรมการร่วมฯ และคณะทำงานด้านเทคนิคในการจัดทำกรอบการบริหารจัดการคุณภาพน้ำ การประสานงานกับคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ 4) คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติของทั้ง 4 ประเทศ มีหน้าที่ในการประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ เรื่องคุณภาพน้ำ รวมทั้งแผนงาน/กิจกรรมที่จะอำนวยความสะดวกในการบำรุงรักษาคุณภาพน้ำที่ดี/ยอมรับได้

7. บทบัญญัติสุดท้าย การแก้ไขเพิ่มเติม หรือการเปลี่ยนแปลงระเบียบปฏิบัติ คณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะดำเนินการเสนอเรื่องให้คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณาอนุมัติ นอกจากนี้ระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำจะมีผลบังคับใช้ระหว่างประเทศภาคีสมาชิก ณ วันที่คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พิจารณาอนุมัติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ