(ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 13:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555 — 2559 โดยให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้แนวทางในการจัดทำแผนงานด้านการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555 — 2559 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอ โดยให้รับความเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปประกอบการดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติรายงานว่า

1. ณะรัฐมนตรีได้มีมติ วันที่ 17 เม.ย. 52 ให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ (National Agenda) และคณะรัฐมนตรีมีมติวันที่ 21 เม.ย. 52 มอบหมายให้ กก. จัดทำยุทธศาสตร์แผนงานฟื้นฟูวิกฤตการท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะยาว ซึ่ง กก. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์กู้วิกฤตและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว พ.ศ.2552-2555 โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน มีการศึกษา วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศมีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับวาระแห่งชาติด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสอดรับกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติที่จะต้องจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

2. ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2553 ที่ประชุมมีมติรับหลักการและประเด็นยุทธศาสตร์กู้วิกฤตและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว พ.ศ.2552-2555 และให้ กก. นำไปทบทวน รับฟังความคิดเห็นและจัดทำร่างแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้อง

3. กก. ได้เสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 ให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2553 ครั้งที่ 3 2553 เมื่อวันพุธที่ 29 กันยาน 2553 และในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันพุธที่ 29 กันยายน 2553 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 และมอบหมายให้ กก. นำ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

4. สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ (พ.ศ. 2555-2559) สรุปได้ดังนี้

4.1 วิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก สามารถสร้างรายได้และกระจายรายได้โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม สมดุล และยั่งยืน

4.2 เป้าประสงค์

4.2.1 ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเพิ่มขึ้น

4.2.2 รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศเพิ่มขึ้นโดยเน้นการพัฒนากิจกรรมที่สร้างมูลค่าและคุณค่า

4.2.3 สร้างรายได้และกระจายรายได้โดยคำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืน

4.3 เป้าหมาย

4.3.1 อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเชีย

1) อันดับขีดความสามารถด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 15 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเชีย

2) อันดับขีดความสามารถด้านสภาวะแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเชีย

3) อันดับขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ธรรมชาติ และวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 อันดับ หรือเป็น 1-5 ของทวีปเอเชีย

4.3.2 รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5

4.3.3 กลุ่มคลัสเตอร์ด้านการท่องเที่ยวได้รับการพัฒนา 14 กลุ่มคลัสเตอร์

4.4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

4.4.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาและข้อจำกัด ในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ และรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย

4.4.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว การกำหนดมาตรการในการแก้ไขกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ให้แหล่งท่องเที่ยวของไทยสามารถมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว

4.4.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาสินค้า บริการและปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเสริมสร้างโอกาสและแรงจูงใจเพื่อพัฒนาการค้าการลงทุนด้านการท่องเที่ยว การพัฒนามาตรฐานของสินค้าบริการ ความปลอดภัย และการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว

4.4.4 ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการท่องเที่ยว มุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจในภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยการดำเนินการตลาดเชิงรุกเพื่อประมูลสิทธิ์ ดึงงาน และจัดงานแสดงต่างๆ (event) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น มีการใช้จ่ายมากขึ้น

4.4.5 ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว มุ่งเน้นให้การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน การกำหนดภารกิจ ขอบเขตของงานการพัฒนาให้ชัดเจน กำหนดรูปแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ