ผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 7

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:51 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 7 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้นำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ ต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงกลาโหม (กห.) ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมดุสิตธานี เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ซึ่งมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นประธานร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพกัมพูชา และพิจารณาให้ความเห็นชอบร่วมกันใน 2 ด้าน รวม 15 ประเด็น ทั้งนี้ กห. เห็นว่าบันทึกการประชุมดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงได้เสนอบันทึกการประชุมฯ มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. ด้านความมั่นคงและการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชายแดน

1.1 จุดผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายติดตามการสัญจรข้ามแดน ให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2540

1.2 ความร่วมมือด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้เป็นไปตามความตกลงในบันทึกการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานไทย-กัมพูชา ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 และระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ครั้งที่ 6 ณ จังหวัดเสียมราฐ

1.3 การป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด ที่ประชุมสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝ่ายกระชับความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติดในพื้นที่ชายแดน พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินการตามมติของที่ประชุมทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือด้านการปราบปรามยาเสพติดไทย-กัมพูชา ทั้ง 2 ครั้ง

1.4 การป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมตามแนวชายแดนทุกรูปแบบ

1.5 ความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย การติดตามและตรวจสอบการค้าอาวุธสงครามตามแนวชายแดน รวมทั้งจะต่อสู้กับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอาเซียน

1.6 ความร่วมมือในการเก็บกู้ กวาดล้างทุ่นระเบิด ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (ศทช. หรือ TMAC) และองค์การปฏิบัติการทุ่นระเบิดและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแห่งชาติกัมพูชา (CMAA) รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศหารือมาตรการในการเก็บกู้กวาดล้างทุ่นระเบิดร่วมกัน

1.7 การส่งเสริมความปลอดภัยทางทะเล กองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี-ตราด และทัพเรือภาค 1 ของไทย จะร่วมกับกองทัพเรือและกองทัพภาคที่ 3 ของกัมพูชาในการเสริมสร้างมาตรการในการรักษาความปลอดภัยต่อเรือประมงของแต่ละประเทศ รวมทั้งความปลอดภัยทางทะเล

1.8 การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยกับหน่วยทหารและตำรวจของกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน ทั้งสองฝ่ายรับทราบที่จะให้มีการจัดประชุมหารือข้อราชการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเห็นชอบให้หน่วยทหารในพื้นที่ชายแดนทุกระดับ ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธกรณีที่มีต่อกัน รวมทั้งจัดให้มีการพัฒนาสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อการประสานความร่วมมือที่ดีระหว่างกันโดยเฉพาะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี และไม่มีการเผชิญหน้ากันด้วยกำลัง

2. ด้านความร่วมมือด้านอื่นๆ

2.1 ความร่วมมือด้านการค้าบริเวณชายแดน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันด้านการค้า การลงทุน

2.2 ความร่วมมือด้านการเกษตร ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของทั้งสองประเทศสร้างเสริมและขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

2.3 ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ทั้งสองประเทศจะร่วมกันสนับสนุนให้มีการร่วมมือด้านสาธารณสุขบริเวณชายแดน พัฒนาบุคลากรด้วยการจัดให้มีการฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ฯลฯ

2.4 ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ที่ประชุมสนับสนุนและส่งเสริมให้เร่งรัดความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนการเดินทางไปมาหาสู่กันและการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวร่วมกัน

2.5 ความร่วมมือด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งสองประเทศจะสนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประสานความร่วมมือในการติดตาม ป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ชายแดน

2.6 ความร่วมมือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันที่จะขยายความร่วมมือด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

2.7 ความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันสร้างเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคตามแผนปฏิบัติการภายใต้ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบสนองในภาวะฉุกเฉิน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ