ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 5, 2011 14:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป เมื่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น โดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว และหากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติในสาระสำคัญที่แตกต่างไปจากหลักการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดการนำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และพิธีสารว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่น โดยทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เสริมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ก่อนเสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (ร่างมาตรา 2)

2. กำหนดนิยามคำว่า “องค์กรอาชญากรรม” “องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ” “การอำพราง” “สายลับ” “ข้อมูลข่าวสาร” และพนักงานสอบสวน” เป็นต้น (ร่างมาตรา 3)

3. กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตน (ร่างมาตรา 4)

4. กำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ หลักเกณฑ์การกระทำความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักร การพยายามกระทำความผิดหรือตระเตรียมหรือสนับสนุนการกระทำความผิดฐานอาชญากรรมข้ามชาติ และกำหนดหลักเกณฑ์ที่ต้องรับผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (ร่างมาตรา 7 ถึงร่างมาตรา 11)

5. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรรมการหรือผู้บริหารหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน หรือกรรมการขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญที่ได้กระทำความผิดต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น และให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการผู้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเกี่ยวเนื่องกับการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น (ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 13)

6. กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการสืบสวนสอบสวนคดีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กำหนดผู้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ผู้ทำการสอบสวน อำนาจสอบสวน การให้อำนาจพนักงานสอบสวนเข้าไปในเคหสถาน สถานที่ใด ๆ การค้นบุคคลหรือยานพาหนะ การจับกุม ยึดหรืออายัด และการกักตัวบุคคล เป็นต้น กำหนดวิธีการการได้มาซึ่งเอกสารหรือข้อมูลข่าวสาร การให้บุคคลจัดทำเอกสารหรือหลักฐานใดหรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน การให้อัยการสูงสุดมีอำนาจอนุมัติให้มีการเคลื่อนย้ายคน สัตว์ หรือสิ่งของต้องห้ามผ่านออกไปจาก ผ่าน ภายในประเทศหรือเข้าสู่ดินแดนของรัฐหนึ่งหรือมากกว่ารัฐหนึ่ง การให้อำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่อาจใช้เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการอื่นใดในการติดตามความเคลื่อนไหว และการกำหนดความผิดฐานเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ร่างมาตรา 14 ถึงร่างมาตรา 22)

7. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี เช่น หากผู้ต้องหาให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการสืบสวนสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ในสำนวนเพื่อเสนอต่ออัยการสูงสุด กำหนดให้อัยการสูงสุดมีอำนาจใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา และหากการให้ข้อมูลดังกล่าวได้กระทำในระหว่างพิจารณาคดีของศาลให้อัยการสูงสุดมีอำนาจออกคำสั่งถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา หรือไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกาจำเลย รวมทั้งกำหนดให้ศาลอาจใช้ดุลยพินิจลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ (ร่างมาตรา 23 ถึงร่างมาตรา 25)

8. กำหนดบทกำหนดโทษ (ร่างมาตรา 26 ถึงร่างมาตรา 35)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 ตุลาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ