แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 — 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2011 15:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 — 2559 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ปรากฎในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 — 2559 ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 — 2559 ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า

1. จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือ “แรงงานนอกระบบ” จำนวน 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ จำนวน 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7 ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2548 - 2552) พบว่า ผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มจาก 22.5 ล้านคน ในปี 2548 เป็น 24.1 ล้านคน ในปี 2553

2. รง. ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกำลังแรงงานของประเทศได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาของแรงงานนอกระบบ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2553 จึงได้นำร่องจัดทำ “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2554” ขึ้น และได้แปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ โดยจัดทำ “แผนปฏิบัติการส่งเสริม พัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ปี 2554” ซึ่งแผน/ผลการดำเนินงานเป็นเพียงการประสานงานเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการยกระดับของแผนให้มีการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 — 2559” ขึ้น

3. สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2555 — 2559 สรุปได้ ดังนี้

3.1 วิสัยทัศน์

แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครอง มีหลักประกันทางสังคม นำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

3.2 พันธกิจ

3.2.1 ผลักดันให้เกิดการขยายความคุ้มครองสู่แรงงานนอกระบบครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

3.2.2 ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

3.2.3 พัฒนาสมรรถนะและขยายโอกาสการมีงานทำ

3.2.4 เสริมสร้างแนวทางการเข้าถึงแหล่งงานและความยั่งยืนของอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ

3.2.5 ส่งเสริมการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่าย

3.2.6 พัฒนา ส่งเสริม สนับสนุน สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน

3.3 เป้าประสงค์

3.3.1 แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและมีความใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่แรงงานในระบบได้รับ

3.3.2 มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work)

3.3.3 แรงงานนอกระบบมีสมรรถนะตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบและตลาดแรงงาน

3.3.4 แรงงานนอกระบบมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงาน และแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ

3.3.5 มีกลไกการทำงานในลักษณะภาคีและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแรงงานนอกระบบ ชุมชน กลุ่มการเกษตร กลุ่มอาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ

3.3.6 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงแรงงานนอกระบบตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน

3.4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย

3.4.1 ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง

3.4.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการมีงานทำ

3.4.3 ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ