มาตรการภาษีศุลกากรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2011 15:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีศุลกากรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยและฟื้นฟูอุตสาหกรรมและเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงการคลังนำเรื่องนี้เสนอ คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) เป็นประธานและคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธาน และคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ) เป็นประธาน และให้ดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของมาตรการและร่างประกาศ

1. ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องจักร รวมถึงเครื่องมือและเครื่องใช้ที่ใช้กับเครื่องจักรดังกล่าวที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัยเป็นระยะเวลาชั่วคราว โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

1.1 ผู้ได้รับสิทธิ คือ ผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ให้การรับรอง

1.2 การนำเข้า ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิจะนำเข้าเองหรือสั่งให้นำเข้าก็ได้ โดยกรณีผู้ประกอบการที่มีสิทธิได้รับการยกเว้นอากรสั่งให้ผู้อื่นนำของเข้าต้องมีหนังสือแจ้งกรมศุลกากรทราบในขณะนำเข้า

1.3 เครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องจักร รวมถึงเครื่องมือและเครื่องใช้ที่ใช้กับเครื่องจักรดังกล่าวที่นำเข้ามาจะต้องเป็นของใหม่เท่านั้น

1.4 อก. จะมีหนังสืออนุมัติรายการนำเข้าเครื่องจักร และผู้นำเข้าต้องแสดงหนังสือดังกล่าวขณะนำเข้า

2. ยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์นั่งสำเร็จรูปเพื่อทดแทนการผลิตในประเทศเป็นการชั่วคราว โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

2.1 ผู้ได้รับสิทธิ คือ ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์ ซึ่งได้ดำเนินกระบวนการผลิตรถยนต์อย่างครบวงจร คือ มีการผลิตตัวถัง การทำสีตัวถึง และการประกอบรถยนต์เป็นอย่างน้อย ที่มีโรงงานประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อก. ให้การรับรอง ทั้งนี้ ไม่รวมถึงบริษัทที่ประกอบรถยนต์ขึ้นจากชิ้นส่วนเก่า และรถยนต์จดประกอบ

2.2 รถยนต์ที่ได้รับสิทธิต้องเป็นรถยนต์ใหม่ที่เป็นรถยนต์นั่งตามประเภท 87.03 และรถบรรทุกชนิดปิกอัพตามประเภท 87.04 ขนาดความจุกระบอกสูบ เครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซี.ซี และต้องเป็นรถยนต์แบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับแบบที่ผลิตในโรงงานประสบอุทกภัย และแบบดังกล่าวต้องไม่มีการผลิตอยู่ในโรงงานอื่นในประเทศ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อก.ประกาศกำหนด

2.3 กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิต้องเป็นผู้นำเข้าเองเท่านั้น

2.4 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นผู้อนุมัติการนำเข้าและออกหนังสืออนุมัติรายการนำเข้า โดยผู้นำเข้าต้องแสดงหนังสือดังกล่าวขณะนำเข้า

3. ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตหรือประกอบเป็นส่วนประกอบหรืออุปกรณ์ประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

3.1 ผู้ได้รับสิทธิ คือ ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีโรงงานประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณีประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546

3.2 การนำเข้า ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิสามารถนำเข้าเองหรือโอนสิทธิการนำเข้าให้กับผู้ประกอบรถยนต์สำเร็จรูปในประเทศ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อนำไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในประเทศก็ได้ แต่ไม่รวมถึงบริษัทจดประกอบรถยนต์ ทั้งนี้ ในกรณีโอนสิทธิต้องมีหนังสือแจ้งกรมศุลกากรทราบในขณะนำเข้า

3.3 ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้า หมายถึง ชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้งาน และเป็นชิ้นส่วนชนิดเดียวกับที่ผู้ได้รับสิทธิผลิตอยู่ในโรงงานของตนก่อนประสบอุทกภัย และนำเข้ามาเพื่อประกอบยานยนต์สำเร็จรูปในประเทศ หรือผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อนำไปประกอบยานยนต์สำเร็จรูปในประเทศเท่านั้น

3.4 ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าดังกล่าวต้องได้รับการอนุมัติการนำเข้าจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม อก. และต้องแสดงหนังสือดังกล่าวในขณะนำเข้า

4. การยกเว้นอากรขาเข้าตามข้อ 1- ข้อ 3 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2555

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ