ผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ครั้งที่ 3/2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 16:57 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ครั้งที่ 3/2554 ตามมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ครั้งที่ 3/2554 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับแผนการดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้าง จำนวน 17,126 ล้านบาท ในปี 2555-2556 และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดทำรายละเอียดโครงการเสนอคณะกรรมการ กยน. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

มติคณะกรรมการ กยน. ครั้งที่ 3/2554

1. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน 6 แผนงาน และมอบหมายหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ดังนี้

1.1 แผนการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก มอบหมายกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลัก และแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศประจำปี 2555 และรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กยน. ภายในเดือนมกราคม 2555

1.2 แผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้าง เห็นชอบหลักการและกรอบวงเงินแผนการดำเนินงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างจำนวน 17,126 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณดำเนินการในปี 2555 จำนวน 12,610 ล้านบาท และปี 2556 จำนวน 4,516 ล้านบาท โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอคณะกรรมการ กยน. และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

1.3 แผนการพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์ และเตือนภัย

1) แผนการพัฒนาคลังข้อมูล มอบหมาย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแผนการพัฒนาคลังข้อมูล ร่วมกับกรมแผนที่ทหาร องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น (JICA) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายรอยล จิตรดอน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2555

2) แผนการปรับปรุงระบบการพยากรณ์ มอบหมายกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการปรับปรุงระบบการพยากรณ์

3) แผนการปรับปรุงระบบการเตือนภัย มอบหมาย ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี หารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ) เพื่อออกแบบและจัดทำแผนปรับปรุงระบบการเตือนภัย โดยให้รวมถึงการติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิดให้ครบทุกประตูระบายน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตามและสั่งการระบบปิดเปิดประตูระบายน้ำจากส่วนกลางได้

1.4 แผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ มอบหมายกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลัก เพื่อบูรณาการแผนการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกลาโหม และจัดทำข้อเสนอแผนเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และพื้นที่เมือง รวมถึงการปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจแบ่งเป็นแผนความช่วยเหลือเบื้องต้น แผนบรรเทาความเสียหาย และแผนบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำเสีย ทั้งนี้อาจจะพิจารณาจัดจ้างที่ปรึกษาระดับมืออาชีพให้ทำการศึกษารายละเอียดของข้อเสนอแผนงานเผชิญเหตุเฉพาะพื้นที่ได้

1.5 แผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการจัดทำแผนงานการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการเยียวยา

1.6 แผนงานปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหน่วยงานหลักในการจัดประชุมหารือระหว่างคณะกรรมการ กยน. และคณะกรรมการ กยอ. เพื่อจัดทำข้อเสนอแผนงานการปรับปรุงองค์กรเพื่อบริหารจัดการน้ำ และให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อติดตามการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงคมนาคม โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ส.กยน.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ

2. เห็นชอบในหลักการของร่างยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำ แบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา) โดยมอบหมายฝ่ายเลขานุการฯ ประสานกับประธานอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ดำเนินการบูรณาการและปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอของร่างยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ให้สอดคล้องกับรูปแบบของร่างแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน และหารือกับผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ในการจัดทำรายละเอียดแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน เพื่อเสนอคณะกรรมการ กยน. พิจารณาอีกครั้งก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ให้รวม 2 แผนงานที่ถือว่ามีความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน คือ (1) แผนฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าและระบบนิเวศ และ (2) แผนสร้างความเข้าใจ การยอมรับและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอุทกภัยขนาดใหญ่ของทุกภาคส่วน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ