รายงานความก้าวหน้าในการสำรวจความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 17:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานความก้าวหน้าในการสำรวจความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยเพิ่มเติม ดังนี้

1. การสำรวจความเสียหายของภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

ผลการสำรวจความเสียหายของภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยทั้งหมดในปี พ.ศ.2554 พบโรงงานอุตสาหกรรมได้รับความเสียหาย จำนวน 8,252 ราย จาก 42 จังหวัด ทั่วประเทศ จำแนกได้ ดังนี้

  • ในนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง โรงงานจำนวน 888 ราย มูลค่าความเสียหาย 171,087 ล้านบาท
  • ภายนอกนิคมอุตสาหกรรม โรงงานจำนวน 7,364 ราย มูลค่าความเสียหาย 157,174 ล้านบาท
  • สรุปความเสียหายรวม 328,261 ล้านบาท

จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมได้รับความเสียหาย 5 ลำดับแรก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1,690 ราย ความเสียหาย 166,408 ล้านบาท จังหวัดปทุมธานี 1,684 ราย ความเสียหาย 143,008 ล้านบาท จังหวัดนนทบุรี 1,415 ราย ความเสียหาย 12,458 ล้านบาท กรุงเทพมหานคร 2,324 ราย ความเสียหาย 2,000 ล้านบาท จังหวัดอ่างทอง 87 ราย ความเสียหาย 1,041 ล้านบาท

2. การช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

2.1 การลงทะเบียนผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยเพื่อขอรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดบริการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้เข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนผ่านธนาคารออมสินและการค้ำประกัน โดยบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรม (บสย.) สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 40,000 ล้านบาท และ 100,000 ล้านบาท ตามลำดับ โดยให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและบันทึกลงฐานข้อมูล ส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นต้น

จากการเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2554 มีผู้ประกอบการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ 2,616 ราย มูลค่าเงินลงทุน 363,598 ล้านบาท มูลค่าความเสียหาย 103,002 ล้านบาท ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสามารถลงทะเบียนผ่าน http://www.diw.go.th/flood54 หรือติดต่อประสานงานที่กรมโรงงาน-อุตสาหกรรม หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 3838-9 หรือติดต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทุกแห่ง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือขอให้ลงทะเบียน ภายในวันที่ 31 มกราคม 2555

2.2 มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ได้รับการช่วยเหลือผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้

  • การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบที่นำมาทดแทนเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบนำเข้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 60 โครงการ มูลค่า 9,194 ล้านบาท เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 18 โครงการ มูลค่า 2,539 ล้านบาท
  • เร่งอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของเจ้าหน้าที่/ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศที่เข้ามาซ่อมแซมเครื่องจักร 317 ราย เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 76 ราย

2.3 โครงการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัย โดยแต่ละโครงการมีความก้าวหน้า ดังนี้

2.3.1 โครงการคลินิกอุตสาหกรรม เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจะส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจ วินิจฉัย วางแผนการฟื้นฟูการผลิตและกระบวนการทางธุรกิจ มีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการ จำนวน 5,000 ราย ขณะนี้รอรับการจัดสรรงบประมาณ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นการเร่งด่วน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินโครงการไปก่อน โดยใช้งบประจำ มีผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือแล้ว 2,476 ราย ช่วยเหลือในเบื้องต้น 575 ราย ผู้ประกอบการ 114 ราย สามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ

2.3.2 โครงการศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประกอบการ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม แต่ยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติงบประมาณ โครงการนี้ ได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับไว้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 113 ราย จากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม 42 ราย และวิสาหกิจชุมชน 71 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้งหมด

2.3.3 โครงการศูนย์สารพัดช่าง กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการโครงการ ศูนย์สารพัดช่าง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านเงินทุน การซ่อมแซมบ้านพักอาศัย ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และซ่อมแซมยานพาหนะต่างๆ โดยจะดำเนินการครั้งแรก ในวันที่ 26 - 28 ธันวาคม 2554 ณ ศูนย์การค้าเดอะไพรเวซี่ ถนนไทยธานี เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม บริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน)

3. การฟื้นฟูนิคม/เขตประกอบกอบการ/สวนอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

ความก้าวหน้าของการฟื้นฟูนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม ทั้ง 7 แห่ง ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี โรงงานอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเร่งซ่อมแซมเครื่องจักรอุปกรณ์ โดยมีโรงงาน 135 แห่ง หรือร้อยละ 15.2 ของโรงงานทั้งหมด เริ่มประกอบการได้

ในส่วนของการพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย นิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายทุกแห่ง ได้เริ่มดำเนินการศึกษาออกแบบเพื่อจัดสร้างคันกั้นน้ำถาวรที่มีความมั่นคงแข็งแรง รวมทั้งติดต่อประสานงานเพื่อขอรับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน ตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลแล้ว ซึ่งคาดว่า นิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมทุกแห่ง จะสร้างคันกั้นน้ำถาวรได้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากในปี พ.ศ.2555

4. สรุปผลการให้ความช่วยเหลือด้านการระบายน้ำของ Japan International Co-Operation Agency (JICA)

รัฐบาลญี่ปุ่น โดย JICA ได้สนับสนุนรถสูบน้ำจำนวน 10 คัน เพื่อช่วยการระบายน้ำออกจากนิคม/เขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2554 โดยได้เข้ามาช่วยระบายน้ำออกจากเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ สวนอุตสาหกรรมบางกะดี และสวนอุตสาหกรรมนวนคร นอกจากนี้ ยังช่วยระบายน้ำออกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) มหาวิทยาลัยรังสิต และชุมชนในเขตอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ภารกิจแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ผลการดำเนินการประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง สามารถช่วยให้การระบายน้ำในนิคมอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยเหลือสถาบันการศึกษาและชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้ในหลายพื้นที่ กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดพิธีขอบคุณและส่งมอบรถสูบน้ำคืน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ