ขออนุมัติลงนามและสัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2012 13:55 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติลงนามและสัตยาบันสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย

ว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดียว่าด้วยการโอนตัวผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา (สนธิสัญญาโอนตัวนักโทษ)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายลงนามสนธิสัญญาฯ

3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศให้สัตยาบันสนธิสัญญาฯ และแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารในโอกาสอันเหมาะสมตามแต่จะตกลงกับฝ่ายอินเดียต่อไป

4. หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างสนธิสัญญาฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ขอให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของร่างสนธิสัญญาฯ มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับสนธิสัญญาในเรื่องเดียวกันที่ประเทศไทยจัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ. 2527 (แก้ไข พ.ศ. 2530) ทุกประการ โดยกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการขอโอนและการรับโอนตัวผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาระหว่างรัฐคู่สัญญา สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาที่ถูกพิพากษาลงโทษในดินแดนของภาคีฝ่ายหนึ่งอาจถูกโอนตัวไปยังดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้เพื่อรับโทษที่เหลืออยู่

2. ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาอาจถูกโอนตัวได้ถ้าถูกพิพากษาลงโทษจำคุก

3. การกระทำอันเป็นมูลเหตุของการมีคำพิพากษาให้ลงโทษเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของรัฐผู้รับหรือถือได้ว่าเป็นความผิดทางอาญาหากได้กระทำในดินแดนของรัฐผู้รับ

4. ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาที่อาจถูกโอนตัวต้องเป็นคนชาติของรัฐผู้รับและมิได้เป็นคนชาติของรัฐผู้โอน

5. รัฐผู้โอน รัฐผู้รับ และผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาต่างเห็นพ้องให้มีการโอนตัวได้

6. ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาซึ่งกระทำความผิดต่อความมั่นคงภายในและภายนอกของรัฐ ต่อประมุขของรัฐ หรือสมาชิกในครอบครัวโดยตรงของประมุขของรัฐ หรือต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสมบัติที่มีค่าทางศิลปะของชาติ รวมทั้งความผิดต่อกฎหมายทหาร จะไม่ได้รับการโอนตัว

7. หากกฎหมายของรัฐผู้โอนกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการจำคุกผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาที่อาจถูกโอนตัวจะต้องได้รับโทษในรัฐผู้โอนมาแล้วเป็นระยะเวลาขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

8. ผู้ต้องโทษตามคำพิพากษายังคงเหลือระยะเวลาในการรับโทษตามคำพิพากษาอีกอย่างน้อย 1 ปี ในขณะที่ได้รับคำร้องขอให้โอนตัว

9. รัฐผู้โอนยังคงไว้ซึ่งเขตอำนาจแต่ผู้เดียวเกี่ยวกับคำพิพากษาของรัฐผู้โอน รวมทั้งโทษตามคำพิพากษาที่กำหนดโดยศาลของรัฐผู้โอนในการที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกคำพิพากษาของศาลตน แต่รัฐผู้รับมีอำนาจในการอภัยโทษผู้ต้องโทษตามคำพิพากษา

10. การบังคับโทษตามคำพิพากษาต่อภายหลังการโอนตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายและวิธีการของรัฐผู้รับ

11. สนธิสัญญาฉบับนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบนับจากวันที่มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ