การแต่งตั้งคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมใหญ่สหภาพสากลไปรษณีย์ สมัยที่ 25

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 13:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คระรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอดังนี้

1. มอบอำนาจเต็มให้แก่หัวหน้าคณะและรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการร่วมอภิปราย ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ลงมติ และลงนามในกรรมสารสุดท้ายของสหภาพสากลไปรษณีย์ สมัยที่ 25

2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือแต่งตั้งคณะผู้แทนไทย ซึ่งมอบอำนาจเต็ม (Credentials with full powers) ให้แก่หัวหน้าคณะและรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมใหญ่สหภาพฯ ระหว่างวันที่ 24 กันยายน ถึง 15 ตุลาคม 2555 ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

สาระสำคัญของเรื่อง

ทก. รายงานว่า

1. สหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union : UPU) เป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2417 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระบบงานการให้บริการและปรับปรุงกิจการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศด้านกิจการไปรษณีย์การดำเนินงานของสหภาพฯ ประกอบด้วยองค์กรสำคัญ คือ ที่ประชุมใหญ่ (Congress) สภาบริหาร (Council of Administration) สภาปฏิบัติการไปรษณีย์ (Postal Operations Council) และสำนักงานระหว่างประเทศ(International Bureau) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 192 ประเทศ โดยประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหภาพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2428

2. สหภาพฯ จัดให้มีการประชุมใหญ่ทุก 4 ปี ซึ่งจะมีการพิจารณากำหนดนโยบายและแผนการดำเนินงานของสหภาพฯ สำหรับระยะเวลา 4 ปี ข้างหน้าและจะมีการเลือกตั้งตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ของสหภาพฯ ได้แก่ เลขาธิการ (Director General) รองเลขาธิการ (Deputy Director General) สมาชิกสภาบริหาร สมาชิกสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ (Postal Operations Council : POC) และการเลือกประเทศเจ้าภาพสำหรับการประชุมใหญ่สมัยต่อไป นอกจากนี้จะมีการพิจารณาข้อเสนอของประเทศสมาชิกสหภาพฯ ซึ่งขอแก้ไข/เพิ่มเติมเอกสารสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ ธรรมนูญและกฎข้อบังคับทั่วไป (Constitution and General Regulations) อนุสัญญาสากลไปรษณีย์ (Convention) และข้อตกลงว่าด้วยการบริการการเงินไปรษณีย์ (Agreement on Postal Payment Services) ซึ่งหากที่ประชุมใหญ่ฯ ได้มีมติให้มีการแก้ไข/เพิ่มเติมเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วหัวหน้าคณะผู้แทนผู้มีอำนาจเต็มของประเทศสมาชิกจะต้องลงนามรับรองการแก้ไข/เพิ่มเติมในเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าว และภายหลังจากการประชุมแต่ละประเทศจะต้องให้สัตยาบันต่อเอกสารที่มีการแก้ไขด้วย ทั้งนี้ หากประเทศสมาชิกใดไม่เห็นด้วยกับการขอแก้ไขธรรมนูญและกฎข้อบังคับทั่วไป อนุสัญญาสากลไปรษณีย์และ/หรือข้อตกลงว่าด้วยการบริการการเงินไปรษณีย์ในส่วนใด ผู้แทนประเทศนั้นสามารถขอทำข้อสงวนสำหรับการแก้ไข/เพิ่มเติมในส่วนนั้นได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ