ท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2012

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 13, 2012 13:26 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2012

(United Nations Conference on Sustainable Development : UNCSD) หรือ Rio+20

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบท่าทีประเทศไทยสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2012 (United Nations Conference on Sustainable Development : UNCSD) หรือ Rio+20 ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ทั้งนี้ หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากท่าทีเจรจานี้และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Legally binging) ต่อประเทศไทยให้เป็นดุลยพินิจขององค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly : UNGA) สมัยที่ 64 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2552 มีข้อมติที่ A/RES/64/236 ให้จัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (UNCSD) หรือ Rio+20 ระหว่างวันที่ 20 — 22 มิถุนายน 2555 ณ นครรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบลาซิล โดยจะมีการประชุมของคณะกรรมการเตรียมการ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13 — 15 มิถุนายน 2555 ก่อนการประชุม Rio+20 โดยศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี จะทรงเป็นองค์หัวหน้าคณะผู้แทนไทยซึ่งครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อให้ฝ่ายการเมืองมาร่วมกันให้คำมั่นต่อการดำเนินการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกครั้ง รวมทั้งรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการและร่วมกันแก้ปัญหา อุปสรรคของการดำเนินการโดยครอบคลุม 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) การดำเนินงานตามแนวทางเศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน (Green economy within the context of sustainable development and poverty eradication) และ (2) กรอบสถาบันระหว่างประเทศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Institutional framework for sustainable development)

2. องค์การสหประชาชาติได้กำหนดกระบวนการเตรียมการสำหรับการประชุม Rio+20 ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งมีทั้งการเตรียมการและการประชุมที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการก่อนมีการประชุม Rio+20 เพื่อนำประเด็นและข้อมูลที่ได้จากการกระบวนการสำหรับการประชุมทั้งหมด นำไปประกอบเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดเตรียมร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม Rio+20 (the Zero Draft of the Outcome Document) ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการประชุมข้างเคียงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถนำผลมาเชื่อมโยงกับการประชุม Rio+20 ได้

3. ทส. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (Rio+20) ตามคำสั่งที่ 157/2554 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2554 โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และรองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และเจ้าหน้าที่ ทส. เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับการดำเนินงานสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (Rio+20) จำนวน 3 คณะ ได้แก่

3.1 คณะทำงานด้านสารัตถะ มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการ

3.2 คณะทำงานด้านงบประมาณ พิธีการ การบริหารจัดการและประชาสัมพันธ์ มีสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการ

3.3 คณะทำงานเพื่อกำกับการดำเนินการจัดทำเอกสารเผยแพร่ Thailand Green Economy และนิทรรศการ มีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการซึ่ง ทส. และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เข้าร่วมประชุมในกระบวนการสำหรับ Rio+20 รวมทั้งได้จัดส่งข้อเสนอ (Submissions) เพื่อบรรจุในร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม Rio+20 และจัดเตรียมสารัตถะและท่าทีของประเทศในการเจรจามาโดยตลอด

4. ร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุม Rio + 20 ซึ่งขณะนี้ใช้ชื่อว่า “THE FUTURE WE WANT” เป็นเอกสารที่คาดว่าผู้นำประเทศ/หัวหน้ารัฐบาล/หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศ จะพิจารณาให้การรับรอง ในการประชุม Rio+20 เพื่อเป็นการร่วมกันให้คำมั่นอีกครั้งหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเอกสารดังกล่าว ประกอบด้วย 5 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 บทนำ (Preamble/Stage Setting)

ส่วนที่ 2 การยืนยันพันธกรณีทางการเมือง (Renewing Political Commitment)

ส่วนที่ 3 เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและการขจัดความยากจน (Green Economy in the context of sustainable development and poverty eradication)

ส่วนที่ 4 กรอบเชิงสถาบันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Institutional Framework for Sustainable Development)

ส่วนที่ 5 กรอบการดำเนินงานและการติดตามผล (Framework for Action and Follow-up)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ