ผลการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2012 11:32 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)

วันที่ 11-14 มิถุนายน 2555

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2555

2. รับทราบข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และมอบหมายรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายไว้

สาระสำคัญของเรื่อง

การติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่ 19 จังหวัดต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นการติดตามการแก้ไขปัญหา เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละพื้นที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งผลจากการติดตาม พบว่า โครงการต่างๆ ของพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่กลางน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 60 โดยโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จส่วนใหญ่เป็นการดำเนินโครงการในพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำ ขณะที่การดำเนินโครงการในพื้นที่ต้นน้ำบางส่วนยังล่าช้ากว่ากำหนด จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินงานและทำความเข้าใจกับจังหวัดถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการชะลอและกักเก็บน้ำให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีรายละเอียด และข้อสั่งการในแต่ละพื้นที่ สรุปได้ดังนี้

1. พื้นที่ต้นน้ำ 10 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และพะเยา โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุปจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ พร้อม Tele-conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัดต้นน้ำ ฟังบรรยายสรุปการคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ลำน้ำต่างๆ และแนวทางการฟื้นฟูป่าและการบริหารจัดการลุ่มน้ำยม รวมทั้งการบรรยายสรุปความเสียหายจากอุทกภัย ปี 2554 และความก้าวหน้าของโครงการแก้ไขอุทกภัย (Flagship) ปี 2555 ตลอดจนผลการติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกแก้ไขปัญหาอุทกภัยบริเวณแม่น้ำปิง (บริเวณด้านข้างกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และบริเวณฝายท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่)พร้อมทั้ง ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ โดยมีสาระสำคัญของความก้าวหน้าการดำเนินงาน และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

1.1 ความก้าวหน้าการดำเนินงาน การดำเนินโครงการในพื้นที่ต้นน้ำ ประกอบด้วยโครงการที่ได้รับอนุมัติ รวม 310 โครงการ งบประมาณ 5,753 ล้านบาท โดยมีโครงการจำนวน 171 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 55 สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ ในเดือนมิถุนายน 2555 สำหรับโครงการ Flagship มีโครงการที่ยังล่าช้ากว่าแผน 10 โครงการ หรือประมาณร้อยละ 20

1.2 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

1) ให้จังหวัดในพื้นที่ต้นน้ำ เร่งดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2555

2) บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กองทัพ กปร. และคณะอนุกรรมการปลูกป่าต้นน้ำ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 10 จังหวัดต้นน้ำ ดำเนินการจัดทำ workshop รายจังหวัดในการบูรณการการปลูกป่า รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการรายปีร่วมกับภาคเอกชน โดยให้กระทรวงทรัพยากรฯ และ กปร.รับผิดชอบในการกำหนดพันธุ์ไม้ที่จะปลูก พร้อมทั้งจัดเตรียมพื้นที่การจัดทำฝาย 2,000 แห่ง ทั้งนี้ แนวทางการปลูกป่าจะต้องน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมาดำเนินการ

3) มอบหมายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) กำกับดูแลให้ทุกจังหวัดในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จัดทำแผนเตือนภัยและดำเนินการซ้อมตามแผนอย่างจริงจัง สำหรับปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประชุมหารือเพื่อรับทราบสถานการณ์และทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาคใต้

4) สำหรับการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้

(1) มอบหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พิจารณาโครงการขุดลอกช่วง Missing Link 5 จุดในเขตเมืองเชียงใหม่ และ 1 แห่งในจังหวัดลำพูน รวมถึงโครงการขุดลอกในช่วงใต้สะพานน้ำปิง เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างตอม่อ ทั้งนี้สำหรับโครงการทั้งหมด มอบให้ กบอ.และกรมชลประทานลงไปติดตามตรวจสอบและจัดสรรงบประมาณ

(2) ให้แบ่งแผนงานเป็น 2 ตอน คือ (1) ระยะสั้น ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนกรกฎาคม โดยให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างเต็มที่ (2) ระยะยาว มอบให้ กบอ.นำไปพิจารณาวางแผน

(3) มอบให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ดำเนินการติดตามงบประมาณเพื่อสนับสนุนในส่วนโครงการขุดลอกแม่น้ำกวงในช่วงจังหวัดลำพูนที่ยังขาดอยู่ 6 กม. และเร่งรัดกระบวนการจัดสรรงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาของ กบอ.ให้เร็วขึ้น

(4) มอบหมายให้กองทัพเป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการบูรณาการโครงการขุดลอกคูคลองในส่วน Missing Link ทั้งหมด เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม

(5) ให้จังหวัดรวบรวมผลกระทบจากการขยายลำน้ำปิงและโครงการแก้ไขทั้งหมดเสนอให้ กบอ. พิจารณา และมอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า ร่วมกันพิจารณาและเสนอโครงการของจังหวัดที่จำเป็นเร่งด่วน และบูรณาการแผนระยะยาว ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบกับประชาชน เช่น การเวนคืนพื้นที่รุกล้ำริมน้ำ ขอให้กรมเจ้าท่าประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมให้กับประชาชน

(6) ให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบเพิ่มเติมอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการขุดลอกคูคลองไม่ให้ตื้นเขิน การรุกล้ำพื้นที่ริมฝั่ง การกำจัดผักตบชวา และกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด

2. พื้นที่กลางน้ำ 6 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร และชัยนาท โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุปจากรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ พร้อม Tele-conference ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในกลุ่มจังหวัดกลางน้ำ ตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการขุดลอกตะกอนดินบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ โครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่เทศบาลนครสวรรค์ โครงการแก้มลิงบึงขี้แร้ง โครงการปรับปรุงประตูระบายน้ำบางแก้ว อ.บางระกำ โครงการขุดคลองเมม-คลองบางแก้ว และโครงการซ่อมแซมคันกั้นน้ำ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พร้อมทั้ง ได้ตรวจเยี่ยมราษฎรในพื้นที่น้ำท่วมฉับพลัน ต.ยางซ้าย และ ต.ปากพระ อ.เมือง ตรวจประตูน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และรับฟังแนวทางการบริหารจัดการลำน้ำยมในพื้นที่ตอนล่าง ณ จ.สุโขทัย โดยมีสาระสำคัญของความก้าวหน้าการดำเนินงาน และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

2.1 ความก้าวหน้าการดำเนินงาน การดำเนินงานในภาพรวมของกลุ่มพื้นที่กลางน้ำ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 274 โครงการ งบประมาณ 13,362 ล้านบาท โดยมีโครงการจำนวน 264 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 95-97 ที่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ในเดือนกรกฎาคม 2555 สำหรับโครงการ Flagship มีโครงการล่าช้าอยู่ร้อยละ 14

2.2 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

1) ให้จังหวัดในพื้นที่กลางน้ำ เร่งดำเนินโครงการทั้งหมดเพื่อการชะลอและกักเก็บน้ำให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดภายในเดือนกรกฎาคม 2555

2) มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดจัดการให้ทุกจังหวัดประสานเชื่อมโยงกันในการเปิดทางไหลของน้ำ สำหรับภาพรวมให้ กบอ. โดยคณะกรรมการระบายน้ำบูรณาการทั้งประเทศเรื่องการระบายน้ำให้ไหลได้ตามธรรมชาติ

3) ขอให้จังหวัดเร่งรัดการบันทึกข้อมูล PMOC ให้ละเอียดถูกต้อง และมีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด หากมีปัญหาที่ทำให้บันทึกข้อมูลล่าช้าก็ให้เร่งแก้ไข และให้เชื่อมต่อระบบ PMOC กับศูนย์ Single Command เพื่อให้การติดตามการแก้ไขปัญหาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ

4) มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ร่วมกับกรมชลประทานดำเนินการจัด Workshop ซ้อมแผนเตือนภัย เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าใจหลักการทำงาน และจัดการซ้อมแผนจริงใน กทม. พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงคมนาคม สำรวจความแข็งแรงของถนนสายต่าง ๆ

3. พื้นที่ปลายน้ำ 3 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสิงห์บุรี โดยนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความก้าวหน้าประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ และคันกั้นน้ำตามแนวคลองรังสิต รับฟังความก้าวหน้างานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรม/สวนอุตสาหกรรม รับชมการซ้อมการเตือนภัยและแผนเผชิญเหตุน้ำท่วม ณ วัดโพธิ์ลิง ต.บ้านโพธิ์ อ.เสนา ร่วมกับตรวจพื้นที่รับน้ำนอง อ.บางบาล โดยมีสาระสำคัญของความก้าวหน้าการดำเนินงาน และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี สรุปได้ ดังนี้

3.1 ความก้าวหน้าการดำเนินงาน

1) ในการฟื้นฟูกิจการในเขตนิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าสถานภาพการประกอบกิจการของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 เขต ณ วันที่ 8 มิ.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 78.31 โดยความก้าวหน้างานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ คิดเป็นร้อยละ 39.0 งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) คิดเป็นร้อยละ 51.8 งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเขตนิคมอุตสาหกรรมบางประอิน คิดเป็นร้อยละ 40 งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมเขตประกอบการอุตสาหกรรมนวนคร คิดเป็นร้อยละ 40.03 และงานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมสวนอุตสาหกรรมบางกะดี คิดเป็นร้อยละ 50.20 ขณะที่งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ยังไม่มีความก้าวหน้า

2) การจ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีบ้านเรือนเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 146,356 หลังคาเรือน จังหวัดได้ให้ความช่วยเหลือแล้ว จำนวน 126,094 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,532,236,445.18 บาท คิดเป็นร้อยละ 91.14 อย่างไรก็ดี ได้มีผู้ยื่นอุทธรณ์ค่าชดเชย จำนวน 24,538 ครัวเรือน และมีผู้ตกสำรวจ จำนวน 19,575 ครัวเรือน เป็นเงินทั้งสิ้น 673.86 ล้านบาท

3.2 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

1) มอบหมายจังหวัดปลายน้ำเร่งดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2555

2) มอบหมายกระทรวงมหาดไทยดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและดำเนินการแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้รับทราบและใช้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ พร้อมทั้งสื่อสารให้ประชาชนรับทราบในหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึง และมอบหมายให้จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเร่งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ตกหล่นจากการให้ความช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือนให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและผู้เดือดร้อนให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม

3) มอบหมายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และกองทัพบก ร่วมกันดำเนินการให้การช่วยเหลือในการเร่งดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ซึ่งยังไม่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานเพื่อให้การป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่นิคมฯ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดในเดือนสิงหาคม 2555

4) มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เร่งรัดประสานงานกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงศึกษาธิการ ในการฟื้นฟูบูรณะโบราณสถานและสถานศึกษาในพื้นที่

5) การซ้อมแผนป้องกันและเตือนภัยภายในนิคมอุตสาหกรรมให้สามารถเชื่อมโยงแผนป้องกันและเตือนภัยในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและแบบจำลองการบริหารจัดการและการระบายน้ำในภาพรวมของประเทศ ควรให้ กบอ. เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อรับทราบข้อมูลการดำเนินงานของนิคมดังกล่าวด้วย

6) มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรม และ กบอ.จัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนและสถานที่อพยพโยกย้ายนิคมและชุมชนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยที่แผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยของจังหวัดจะต้องมีความเชื่อมโยงสอดประสานกับแผนของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่และสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการของ กบอ.

7) ให้ติดตั้งกล้อง CCTV และระบบโทรมาตรน้ำในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงของนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลให้แก่หน่วยงานภาครัฐ จะทำให้การเตรียมการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของนิคมสามารถทำได้เท่าทันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มิถุนายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ