การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัย การบินพลเรือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 4, 2012 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัย การบินพลเรือน

ตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme (USOAP) ระหว่างประเทศไทยกับองค์การ

การบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือน ตามโครงการ Universal Safety Oversight Audit Programme (USOAP) ระหว่างประเทศไทยกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation: ICAO) ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขถ้อยคำที่มิได้ทำให้สาระสำคัญในบันทึกความเข้าใจฯ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรืออธิบดีกรมการบินพลเรือน หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายที่จะดำเนินการได้

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรืออธิบดีกรมการบินพลเรือนหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามของฝ่ายไทย

3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามของฝ่ายไทยตาม 2.

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า

1. ที่ประชุมสมัชชา ICAO ครั้งที่ 37 ได้รับรองข้อมติที่ A37-5 ให้เลขาธิการ ICAO พัฒนาการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USOAP โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง โดยขอให้รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนแห่งประเทศ ค.ศ. 1944 ซึ่งรวมถึงประเทศไทยลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนตามโครงการ USOAP โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งต้นฉบับที่ลงนามแล้วจำนวน 2 ฉบับให้แก่เลขาธิการ ICAO ซึ่งเลขาธิการ ICAO จะได้ลงนามกำกับไว้ในต้นฉบับทั้งสองก่อนส่งกลับคืนให้รัฐภาคีจำนวน 1 ฉบับ

2. โครงการ USOAP คือ โปรแกรมการตรวจสอบทั้งระบบด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของ ICAO ในการตรวจสอบทั้ง 191 รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ ทั่วโลกอันมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนโดยการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอและตรวจสอบแต่ละรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ ว่าได้นำมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนที่กำหนดโดย ICAO ตามภาคผนวกต่าง ๆ แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1944 (Convention on International Civil Aviation, 1994) มาปฏิบัติมากน้อยเพียงใด

3. ICAO ได้เคยดำเนินการตรวจสอบด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของประเทศไทยตามโครงการ USOAP แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 และดำเนินการตรวจสอบทั้งระบบด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนในแต่ละรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ ในรอบนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2554

4. การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อยอมรับการตรวจสอบด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนของ ICAO คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเนื้อหาสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฯ นี้เป็นการให้ความร่วมมือแก่ทีมผู้ตรวจสอบในระหว่างการตรวจสอบโดยการแต่งตั้งผู้ประสานงานการตรวจสอบ รวมทั้งมีการประสานงานและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ตรวจสอบในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวจะเป็นการให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1944 และภาคผนวกที่เกี่ยวข้องในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ อีกด้วย ซึ่งหากประเทศไทยไม่ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ และไม่ยอมรับการตรวจสอบตามโครงการ USOAP อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อ 190 รัฐภาคีแห่งอนุสัญญาฯ รวมทั้งประชาคมระหว่างประเทศต่อการกำกับดูแลความปลอดภัยทางการบินพลเรือนของประเทศไทยได้

5. กรมการบินพลเรือน คค. ไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้แก่ ICAO นอกจากค่าใช้จ่ายในการประสานงานและอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ของ ICAO ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นอันสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้จากงบประมาณของกรมการบินพลเรือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กรกฎาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ