สรุปผลการจัดประชุม World Economic Forum on East Asia ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2555 และการติดตามผล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 5, 2012 11:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการจัดประชุม World Economic Forum on East Asia ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2555 และการติดตามผลของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ตามที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สลน. เสนอตามที่ได้รายงานจาก กต. ว่า ตามที่ประเทศไทยได้รับเลือกจาก World Economic Forum ให้ร่วมจัดการประชุม World Economic Forum (WEF) on East Asia ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม — 1 มิถุนายน 2555 ที่กรุงเทพฯ นั้น หัวข้อหลักของการประชุมคือ การกำหนดอนาคตภูมิภาคโดยการเชื่อมโยง (Shaping the Region’s Future through Connectivity) ซึ่งต่อยอดจากการประชุมประจำปี 2555 ของ WEF ณ เมืองดาวอส มีผู้นำจาก 5 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีบาห์เรน นายกรัฐมนตรีลาว และนายกรัฐมนตรีไทย มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 630 คน และสื่อมวลชน 330 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้นกว่าร้อยละ 40 สรุปผลการจัดประชุมฯ มีดังนี้

1.1 ในพิธีเปิดการประชุมนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการสร้างความเชื่อมโยงของอาเซียน และสนับสนุนการพัฒนาความเชื่อมโยงสู่ประเทศและภูมิภาคอื่น รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างด้านกายภาพและทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย โดยมีประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีบาห์เรน และนายกรัฐมนตรีลาว ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยผู้แทนรัฐบาลไทยได้แก่ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งผู้นำภาคเอกชนไทยได้ร่วมแสดงความเห็นและวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมด้วย

1.2 ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าการเพิ่มความเชื่อมโยงจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม และเชื่อมั่นว่าอาเซียนจะเป็นจักรกลสำคัญต่อการเจริญเติบโตในภูมิภาค รวมทั้งให้ความสนใจและพัฒนาการของเมียนมาร์ที่จะช่วยเสริมสร้างพลวัตการพัฒนาของอาเซียน โดยเมียนมาร์จะเป็นเจ้าภาพการประชุม WEF on East Asia ในปี 2556 ณ เนปิดอว์ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสนใจกับการเข้าร่วมการประชุมของนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านเมียนมาร์ ซึ่งเดินทางออกจากประเทศมายังประเทศไทยเป็นประเทศแรกในรอบ 24 ปี

1.3 กต. ได้จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยอย่างเป็นระบบผ่านสำนักข่าว CNBC ตลอดจนจัดนิทรรศการในสถานที่ประชุมและร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมเสริมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการท่องเที่ยว และด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ศักยภาพของประเทศในด้านดังกล่าว และจัดให้มีการบรรยายสรุปผลการหารือทั้งหมดแก่สื่อมวลชนไทยเพื่อถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาของอาเซียนในบริบทของความร่วมมือในภูมิภาค

1.4 ประโยชน์จากการเป็นเจ้าภาพของไทย

1.4.1 การที่ไทยร่วมกับ WEF จัดการประชุม WEF on East Asia ในปี 2555 เป็นการส่งสัญญาณที่สำคัญว่าไทยได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ และบทบาทนำในภูมิภาคของไทย ทั้งนี้ การที่มีผู้นำและผู้เข้าร่วมการประชุมมากเป็นประวัติการณ์ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยอย่างชัดเจน

1.4.2 ขยายโอกาสทางธุรกิจและการชัดจูงการค้าการลงทุนสู่ไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ อย่างเป็นระบบ และการจัดกิจกรรมเสริม ตลอดจนการเสนอความคิดเห็นผ่านมุมมองของผู้แทนรัฐบาลและเอกชนไทย ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการส่งเสริมความเชื่อมั่นและการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จะช่วยต่อยอดพลวัตการเจริญเติบโตของประเทศในระยะกลางและยาวต่อไป

1.4.3 รัฐบาลประสบความสำเร็จในการสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของเอกชนไทยที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพสูงในด้านธุรกิจยุคใหม่ ปัจจุบันมีบริษัทไทยเป็นสมาชิก WEF จำนวน 18 บริษัท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กันยายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ