การติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน ประจำเดือนพฤษภาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2013 06:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการติดตามงานตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ด้านความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน ประจำเดือนพฤษภาคม 2556 ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ในขณะนั้น ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 281/2555 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีติดตามงานตามนโยบายของรัฐบาล ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สลน. รายงานว่า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ในขณะนั้น เสนอว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบได้รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้านความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน ประจำเดือนพฤษภาคม 2556 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งในทางการเมือง การให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม (ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย) จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ. 2548-2553) จำนวน 2,280 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,833,847,067.96 บาท และการเยียวยาแก่ผู้ที่ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบที่ลงทะเบียนไว้แล้ว จำนวน 16,286 ราย

2. กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 7 แผนงานหลัก ได้แก่ การแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน / ชุมชน จำนวน 66,894 หมู่บ้าน / ชุมชน (ร้อยละ 79.33) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 จำนวน 9,680 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.48 และ การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดโดยการนำเข้าสู่ระบบบำบัดรักษาทั้ง 3 ระบบ จำนวน 238,874 ราย (ร้อยละ 79.62) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 จำนวน 60,369 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.12 และการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดให้แก่นักเรียน ป.5 และ ป.6 จำนวน 1,047,399 ราย(ร้อยละ 69.83) เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 จำนวน 129,900 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.66

3. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการ 5 ประการ คือ การปลูกจิตสำนึกและสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาองค์กรการตรวจสอบเฝ้าระวังเชิงรุก การปราบปรามที่จริงจังและการลงโทษที่เข้มงวด และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน โดยสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ได้ดำเนินการโครงการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ พ.ศ. 2555 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 8 ลุ่มน้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ 17 ลุ่มน้ำ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน โดยการจัดการน้ำชลประทาน การจัดหาแหล่งน้ำ สนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจ และการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 10 โครงการ การวางแผนจัดสรรน้ำทั่วประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2555/2556 การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง การพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน การก่อสร้างแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และการปฏิบัติการฝนหลวง

5. เร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่ง (สมช.) ได้บูรณาการในการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การจัดทำโครงการและกิจกรรมตามนโยบายและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ภายใต้วัตถุประสงค์ 9 ข้อ ได้แก่ การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้และทุกคนในพื้นที่ดำรงชีวิตได้ปกติสุข การขจัดและป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงและเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย การเสริมสร้างความเข้าใจและฟื้นความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชนและระหว่างประชาชนด้วยกันให้เกิดความร่วมมือในการพร้อมเผชิญปัญหาร่วมกัน ฯลฯ

6. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้รายงานการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการประชุมทวิภาคีระดับสูงกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในอาเซียนของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การประชุมในกรอบอาเซียน การแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการประชุมทวิภาคีระดับสูงกับประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และเป็นตลาดใหม่ เป็นต้น

7. เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้ดำเนินการเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมีสถิติการท่องเที่ยวจากต่างประเทศใน 2 ไตรมาส เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.28 และได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยผ่านทางสื่อโฆษณาต่าง ๆ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ สื่อกลางแจ้ง และสื่อดิจิตอล ประมาณ 2,328 ครั้ง

8. สนับสนุนการพัฒนางานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการสร้างเอกลักษณ์และการผลิตสินค้าในท้องถิ่น (OTOP และ SMEs) โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้ดำเนินโครงการ/กิจกรรมหลายประการได้แก่ การจัดงาน OTOP Midyear 2013 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี มียอดจำหน่ายสินค้า จำนวน 722.7617 ล้านบาท และมีผู้เข้าชมงาน จำนวน 439,519 คน งบประมาณ 89.5000 ล้านบาท และการจำหน่ายสินค้า OTOP ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้ประกอบการจาก 42 จังหวัด เข้าร่วมงานจำนวน 80 ราย

9. เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดย มท. ได้จัดการส่งเสริมวิถีชีวิตแบบประชิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โครงการจัดเวทีการพูดจาหาทางออกประเทศไทย และการสนับสนุนการจัดเวทีประชาเสวนาหาทางออกประเทศไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 กรกฎาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ