รายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุนครึ่งแรกของปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2013 17:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะการส่งเสริมการลงทุนครึ่งแรกของปี 2556 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีนโยบายเร่งรัดส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการต่าง ๆ ทั้งในส่วนการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การชักจูงการลงทุนเชิงรุกไปสู่นักลงทุนเป้าหมาย การเสริมสร้างภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย โดยภาวะการส่งเสริมการลงทุนของประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 สรุปได้ ดังนี้

1. มีคำขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 จำนวน 1,055 โครงการ และมูลค่าลงทุนรวม 632,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2555 ร้อยละ 6 และร้อยละ 47 ตามลำดับ

2. หมวดกิจการบริการและสาธารณูปโภค ได้รับความสนใจขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร และหมวดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ตามลำดับ

3. โครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นและต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้นมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 37 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และโครงการร่วมลงทุนสัดส่วนร้อยละ 26 ของทั้งหมด

4. การลงทุนจากต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 มีมูลค่า 278,600 ล้านบาท โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 และร้อยละ 66 ของการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดตามลำดับ รองลงมา คือ การลงทุนจากมาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ

5. คำขอรับส่งเสริมการลงทุนกระจุกตัวอยู่ในเขต 2 เป็นหลัก โดยมีทั้งสิ้น 442 โครงการ มูลค่าลงทุน 252,100 ล้านบาท รองลงมา คือ การลงทุนในเขต 3 จำนวนทั้งสิ้น 273 โครงการ ลงทุน 154,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในเขต 1 มี 292 โครงการ ลงทุน 62,600 ล้านบาท

6. จากรายงาน World Investment Report 2013 ของหน่วยงานการประชุมของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign direct investment : FDI) ของไทยในปี 2555 มากเป็นอันดับ 4 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และจากการสำรวจความเห็นของบรรษัทข้ามชาติโดย UNCTAD เมื่อต้นปี 2556 สรุปได้ว่าไทยได้รับความสนใจลงทุนมากเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับที่ 4 ของทวีปเอเชีย รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย

7. จากรายงานดัชนีความมั่นใจในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Confidence Index) ของบริษัทที่ปรึกษา A.T. Kearney เกี่ยวกับแนวโน้มการไปลงทุนในต่างประเทศในอนาคตข้างหน้า จากผลการสำรวจความเห็นของบรรษัทข้ามชาติจำนวน 302 บริษัท ใน 28 ประเทศ ซึ่งมียอดขายทั่วโลกเกิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อต้นปี 2556 พบว่าประเทศไทยอยู่ที่อันดับที่ 17 ของโลก และอันดับที่ 6 ในทวีปเอเชีย รองจากจีน อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 กันยายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ