ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการดำเนินการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 25, 2013 06:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการดำเนินการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

(Joint Statement on the Implementation of Sustainable Consumption and Production in ASEAN)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการดำเนินการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดข้องต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ทส. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมฯ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. สาธารณรัฐอินโดนีเซียในฐานะประเทศเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 14 และประธาน ASEAN Forum on Sustainable Consumption and Production ได้พัฒนาร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการดำเนินการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน และแจ้งในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 28-29 สิงหาคม 2556 ณ กรุงจาร์กาตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 14 พิจารณาให้การรับรอง

2. ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมฯ จะมีการรับรองในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 14 ในวันที่ 25 กันยายน 2556 ณ เมืองสุราบายา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันว่าการดำเนินการเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป็นทั้งเงื่อนไขและเป้าหมายสำคัญเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน อาเซียนจำเป็นต้องมีการสนับสนุนทางนโยบายและการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างขีดความสามารถด้านทักษะด้านวิชาการ และความเข้มแข็งขององค์กรที่มากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการดำเนินการในเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งตระหนักถึงแนวโน้มในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการส่งเสริมการดำเนินการเรื่องการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ สมัยที่ 67 เมื่อเดือนธันวาคม 2555

2.2 เป็นการแสดงคำมั่นที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และความร่วมมือกับหุ้นส่วนอาเซียน รวมทั้งองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และหุ้นส่วนองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ในการดำเนินการเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งเวทีหารืออาเซียนด้านการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน และการมีส่วนร่วมในกรอบการดำเนินงาน 10 ปีว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

2.3 กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงรัฐบาล ภาคธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชนให้คำมั่นโดยสมัครใจในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการสร้างขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานตามแบบปฏิบัติที่ดีที่สุดของโลกเพื่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน และจัดทำตัวอย่างความร่วมมือระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนและการดำเนินกิจกรรมภายใต้กรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

3. ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการดำเนินการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการดำเนินการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน โดยการสนับสนุนจากการจัดตั้ง ASEAN Forum on Sustainable Consumption and Production และการมีส่วนร่วมในกรอบงาน 10-year Framework Programme on Sustainable Consumption and Production (10 FYP SCP) โดยไม่มีถ้อยคำและบริบทที่แสดงเจตนาที่จะสร้างพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4. การร่วมรับรองในร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการดำเนินการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน จะเป็นส่วนสำคัญในการแสดงถึงความมุ่งมั่นและความพร้อมของประเทศไทยในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศในเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green growth) รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนในเรื่องการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน สนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ในมิติด้านการส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (Rio+20) ที่สนับสนุนให้ประชาคมโลกดำเนินการพัฒนาภายในประเทศที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่รวมถึงการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนงานที่ครอบคลุมถึงเรื่องการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 กันยายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ