ผลการประชุมหารือแนวทางการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2013 17:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมหารือแนวทางการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัยที่หน่วยงานได้ตกลงร่วมกัน ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้มีการประชุมหารือแนวทางการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม 2556 โดยที่ประชุมได้ยึดหลักจากแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 — 2557 “บทว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย” ใช้ประกอบการกำหนดแนวทางในการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัย โดยแบ่งเป็น 4 แนวทาง ดังนี้

1. ในภาวะปกติ ในการปฏิบัติงานรายวัน ให้หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุทกศาสตร์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร แจ้งข่าวสาร ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงทั่วไปที่อาจมีผลสืบเนื่องหรือนำไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนทราบ ห้ามนำเสนอข้อมูลในลักษณะแสดงความคิดเห็นเว้นแต่เป็นความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือนักวิชาการที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ

2. ในการเฝ้าระวัง เมื่อมีเหตุที่อาจมีผลสืบเนื่องหรือนำไปสู่ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินด้านภัยที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำ

2.1 ให้ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ รับผิดชอบในการจัดประชุมและการแจ้งข่าวร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการติดตามสถานการณ์น้ำ ณ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) โดยข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการเฝ้าระวัง ได้แก่ ประกาศหรือข้อมูลที่มุ่งหมายให้หน่วยงานองค์กร หรือประชาชนเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำ

2.2 ให้มีขั้นตอนการเฝ้าระวัง โดยให้กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมอุทกศาสตร์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของ สภาพอากาศ สถานการณ์ฝน สภาพดิน เฝ้าระวังระดับและคุณภาพน้ำในเขื่อน น้ำในแม่น้ำ น้ำใต้ดิน น้ำทะเล โดยส่งข้อมูลดิบและข้อมูลที่ได้วิเคราะห์แล้วเข้าคลังข้อมูล ที่สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เพื่อเชื่อมข้อมูลกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ให้ทุกหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ใช้ในการปฏิบัติงานร่วมกัน

2.3 ให้จังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการเฝ้าระวังดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

3. การแจ้งเตือนภัย เมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินด้านภัยที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำ ให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) โดย คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ เป็น Command Center เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงและประเมินสถานการณ์ภัยจากข้อมูลในคลังข้อมูลของหน่วยงานเฝ้าระวัง หากคาดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง (ขั้นวิกฤต) จะแจ้งให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ และผ่านกระทรวงมหาดไทย (จังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) เพื่อนำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือนภัยดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชน และเครือข่ายหน่วยเผชิญเหตุทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

โดยข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือนภัยได้แก่ ประกาศ คำสั่ง หรือหลักเกณฑ์ใด ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ที่เป็นการกำหนดให้หน่วยงาน องค์กร หรือ ประชาชนต้องปฏิบัติตามเพื่อการป้องกันหรือระงับยับยั้งความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ให้มีการจำแนกระดับความรุนแรงของภัยเป็น 4 ระดับ คือ

3.1 อุทกภัยความรุนแรงระดับ 1 (สาธารณภัยขนาดเล็ก) คือ อุทกภัยที่มีพื้นที่ประสบภัยในเขตอำเภอหนึ่ง ๆ อยู่ในขีดความสามารถของอำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการระงับภัยได้โดยลำพัง โดยให้จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

3.2 อุทกภัยความรุนแรงระดับ 2 (สาธารณภัยขนาดกลาง) คือ อุทกภัยที่มีความรุนแรงเกินขีดความสามารถของ อำเภอ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการระงับภัยได้โดยลำพัง แต่ยังอยู่ในความสามารถของศูนย์อำนวยการส่วนหน้าจังหวัดควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการระงับภัยได้ โดยให้จังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

3.3 อุทกภัยความรุนแรงระดับ 3 (สาธารณภัยขนาดใหญ่) คือ อุทกภัยที่เกิดผลกระทบรุนแรงกว้างขวางมีพื้นที่เสียหายเป็นบริเวณกว้างเกินขีดความสามารถของจังหวัดควบคุมสถานการณ์และบริหารจัดการระงับภัยได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ อุปกรณ์พิเศษ กำลังสนับสนุนระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน เพื่อตอบโต้เหตุฉุกเฉินบรรเทาภัย โดย

1) ให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ เป็นองค์กรรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

2) ให้ศูนย์อำนวยการร่วมการป้องกันและสาธารณภัยแห่งชาติ (ศอร.ปภ.ช.) รับข้อมูล ข้อเท็จจริง การเฝ้าระวัง ผลการพยากรณ์ ข้อมูลเตือนภัย จากคลังข้อมูลของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) (Command Center) แจ้งให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบให้เฝ้าระวังและเตรียมรับสถานการณ์ผ่านช่องทางต่างๆ และ ผ่านกระทรวงมหาดไทย (จังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) เพื่อนำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือนภัยดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชน และเครือข่ายหน่วยเผชิญเหตุทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

3.4 อุทกภัยความรุนแรงระดับ 4 (สาธารณภัยขนาดร้ายแรงอย่างยิ่ง) คือ อุทกภัยเกิดผลกระทบร้ายแรงอย่างยิ่ง ระดับวิกฤตการณ์ มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ความเป็นอยู่และขวัญกำลังใจของประชาชนจำนวนมากอย่างร้ายแรง เป็นอุทกภัยที่เกินขีดความสามารถของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้บัญชาการ จะควบคุมสถานการณ์ แก้ไข ระงับภัยได้

1) ให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บก.ปภ.ช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการเป็นองค์กรรับผิดชอบในการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยที่เกิดขึ้นจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

2) ให้ ศอร.ปภ.ช. รับข้อมูล ข้อเท็จจริง การเฝ้าระวัง ผลการพยากรณ์ ข้อมูลเตือนภัย จากคลังข้อมูลของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) (Command Center) แจ้งให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบให้เฝ้าระวังและเตรียมรับสถานการณ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ และ ผ่านกระทรวงมหาดไทย (จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) เพื่อนำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเพื่อการแจ้งเตือนภัยดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชน และเครือข่ายหน่วยเผชิญเหตุทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

4. การยกเลิกสถานการณ์ เมื่อภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินด้านภัยที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำ กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ผู้รับผิดชอบแต่ละระดับภัยประกาศยกเลิกสถานการณ์ และให้ จังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงการประกาศยกเลิกสถานการณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงต่อไป ซึ่งสรุปเป็นแนวทางในการให้ข่าวสาธารณะและการเตือนภัย ได้ดังนี้

                         ภาวะปกติ       ภาวะวิกฤต : ระดับความรุนแรงของอุทกภัย
                           รายวัน      อำเภอ     จังหวัด       กลุ่มจังหวัด     ประเทศ
1. การให้ข่าว         สบอช./สสนก./     ศภช.     ศภช.       ศภช.            ศภช.
(แจ้งข่าวสาร)       ศภช./ชป./ทน./      สบอช.    สบอช.      บก.ปภ.ช.        บก.ปภ.ช.
                  อต./อท./ปภ.
2. การเฝ้าระวัง         สบอช./ศภช.     ศภช.     ศภช.       ศภช.            ศภช.
                                     สบอช.    สบอช.      บก.ปภ.ช.        บก.ปภ.ช.
3. การแจ้งเตือนภัย                -     ศภช.     ศภช.       ศภช.            ศภช.
                                                         บก.ปภ.ช.        บก.ปภ.ช.
4. การยกเลิกสถานการณ์            -     ศภช.     ศภช.       ศภช.            ศภช.
                                                         บก.ปภ.ช.        บก.ปภ.ช.

หมายเหตุ : จังหวัด อำเภอ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา นำข้อมูลหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวไปเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 ตุลาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ