รายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ประจำปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 12, 2013 16:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ประจำปี 2555 ตามมติคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในการประชุม ครั้งที่ 2/2556 วันที่ 10 กันยายน 2556 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า

1. ได้ดำเนินการตามความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานต่าง ๆ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 โดยมีการพิจารณาและทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดเงื่อนไข การจำแนก และการจัดเก็บข้อมูลการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายทั้ง 4 รูปแบบ ให้สอดคล้องใกล้เคียงกับนิยามตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ซึ่งปรากฎข้อมูลแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายใน 4 รูปแบบ และมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการจัดเก็บ ดังนี้

1.1 รูปแบบ ก. ทุกรูปแบบของการใช้ทาส หรือแนวปฏิบัติที่คล้ายกับการใช้ทาส มีจำนวน 154 คน หน่วยงานจัดเก็บ คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

1.2 รูปแบบ ข. การค้าประเวณี/ผลิตสื่อลามกหรือการแสดงลามกมีจำนวน 215 คน หน่วยงานจัดเก็บ คือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม.

1.3 รูปแบบ ค. การกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผลิตและขนส่งยาเสพติด จำนวน 3,128 คน หน่วยงานจัดเก็บ คือ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกระทรวงยุติธรรม

1.4 รูปแบบ ง. งานซึ่งโดยลักษณะของงาน หรือโดยสภาพแวดล้อมในการทำงานมีแนวโน้ม ที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความปลอดภัย หรือศีลธรรมของเด็กมีจำนวน346 คน หน่วยงานจัดเก็บ คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รง.

2. สถานการณ์การใช้แรงงานเด็กของประเทศไทยในปี 2555 มีแนวโน้มลดลง โดยข้อมูลลูกจ้างเด็กจากการตรวจแรงงานทั่วประเทศ เมื่อปี 2554 จำนวน 19,074 คน ลดลงเหลือ 14,972 คน ในปี 2555 เช่นเดียวกับข้อมูลลูกจ้างเด็กที่เป็นผู้ประกันตน จากสำนักงานประกันสังคม จำนวน 50,239 คน ในปี 2554 ลดลงเหลือ 20,465 คน ในปี 2555 ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าจำนวนลูกจ้างเด็กภายเอกชน ในปี 2554 มีจำนวน 227,013 คน และลดลงเหลือ 189,633 คน ในปี2555

3. ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในปี 2555

3.1 ประเทศไทยไม่มีการสำรวจแรงงานเด็กและแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในภาพรวมของทั้งประเทศ จึงทำให้ไม่มีข้อมูลที่แท้จริง เมื่อเกิดข้อกล่าวหาต่าง ๆ จากต่างประเทศ จึงทำให้ยากต่อการพิสูจน์ และยากต่อการวางแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

3.2 ไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนภารกิจการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเป็นการเฉพาะ

3.3 ไม่มีการจัดสรรงบประมาณเป็นการเฉพาะสำหรับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย งบประมาณที่ใช้ดำเนินงานในปัจจุบันเป็นงบประมาณการดำเนินงานปกติของหน่วยงาน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ

4. ข้อเสนอแนะ

4.1 ควรให้มีการสำรวจจำนวนแรงงานเด็ก และแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายในระดับประเทศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กอย่างเป็นระบบ

4.2 หน่วยงานเกี่ยวข้องควรวางระบบการจัดเก็บข้อมูลเพื่อสนับสนุนภารกิจการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเป็นการเฉพาะ

4.3 ควรผลักดันให้เรื่องการขจัดการใช้แรงงานเด็กเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้สังคมรับรู้และมีส่วนร่วมในการจัดการกับปัญหา

4.4 ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำ MOU ระหว่างกัน โดยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายตระหนักรู้ถึงสภาพปัญหา และอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศไทยปราศจากการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายจริงตามเป้าหมายโลก ที่กำหนดไว้ให้มีการดำเนินการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้หมดสิ้นไปภายในปี 2559 และขจัดการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปในปี พ.ศ. 2563

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ