สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2556

ข่าวการเมือง Tuesday December 17, 2013 15:48 —มติคณะรัฐมนตรี

วันนี้ เมื่อเวลา 09.30 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

จากนั้น นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ร้อยโทหญิง สุณิสา เลิศภควัต และนายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (กรณียุบสภา)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอ ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (กรณียุบสภา) รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,885,006,500 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการเอง จำนวนเงิน 3,231,918,300 บาท

2. ค่าใช้จ่ายของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดำเนินการ จำนวนเงิน 653,088,200 บาท

แบ่งเป็น 18 หน่วยงาน ดังนี้

                      1) กรมประชาสัมพันธ์              จำนวนเงิน                20,424,000  บาท
                      2) กระทรวงการต่างประเทศ        จำนวนเงิน                45,000,000  บาท
                      3) กองบัญชาการกองทัพไทย         จำนวนเงิน                 1,000,000  บาท

4) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (สปมท.) จำนวนเงิน 386,820 บาท

5) กรมการปกครอง แบ่งเป็น 3 หน่วยงาน ดังนี้

                         - สำนักบริหารการทะเบียน       จำนวนเงิน               141,661,300  บาท
                         - สำนักบริหารการปกครองท้องที่   จำนวนเงิน                10,290,000  บาท
                         - สำนักกิจการความมั่นคงภายใน   จำนวนเงิน                 3,661,000  บาท
                      6) กรมการพัฒนาชุมชน             จำนวนเงิน                 7,000,000  บาท
                      7) ศอ.บต.                     จำนวนเงิน                 2,000,000  บาท
                      8) กระทรวงแรงงาน              จำนวนเงิน                 5,000,000  บาท
                      9) กระทรวงศึกษาธิการ            จำนวนเงิน                12,000,000  บาท
                     10) กระทรวงสาธารณสุข            จำนวนเงิน                 5,000,000  บาท
                     11) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ         จำนวนเงิน                95,636,700  บาท
                     12) กรุงเทพมหานคร               จำนวนเงิน                25,000,000  บาท
                     13) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค            จำนวนเงิน                14,500,000  บาท
                     14) การไฟฟ้านครหลวง             จำนวนเงิน                 4,125,200  บาท
                     15) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)     จำนวนเงิน                49,993,075  บาท
                     16) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด        จำนวนเงิน               210,410,105  บาท

2. สถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคม และแนวโน้มปี 2556 และ 2557

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนตุลาคม และแนวโน้มปี 2556 และ 2557 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม

1.1 ภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ (หลังปรับปัจจัยฤดูกาล) ปรับตัวดีขึ้น แสดงถึงการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะดัชนีการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการผลิตภาคเกษตร ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวทรงตัว

1.2 ภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2555 เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิตยังคงปรับตัวลดลง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง การส่งออกสินค้าเริ่มหดตัวน้อยลง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่การท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

1.2.1 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ในเดือนตุลาคม 2556 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.03 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สาม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคมลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 มาอยู่ที่ระดับ 66.6 จากระดับสูงสุดที่ 75.0 ในเดือนมีนาคม

1.2.2 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.6 ในเดือนกันยายน โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 13.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 10.8 และการลดลงร้อยละ 9.3 ในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับแสดงถึงการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างยังอยู่ในช่วงชะลอตัว

1.2.3 การส่งออกสินค้าเริ่มหดตัวน้อยลง ในเดือนตุลาคม 2556 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 19,038 ล้านดอลลาร์ สรอ. (594,275 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.9 และร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับ

1.2.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ตามลำดับ

1.2.5 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ในเดือนตุลาคม 2556 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ตามผลผลิตข้าวนาปีที่มีการเร่งเก็บเกี่ยวเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ยางพารา และปศุสัตว์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.8 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ

1.2.6 ภาคการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัว นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 2.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 ชะลอตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าเนื่องจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มสแกนดิเนเวีย และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ

1.3 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเล็กน้อย อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเนื่องจากการเกินดุลทั้งดุลการค้า และดุลบริการ

1.3.1 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม อยู่ที่ร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.4 ในเดือนกันยายน

1.3.2 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาคต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเนื่องจากดุลการค้าและดุลบริการเกินดุล ในขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ที่ 172,087 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจาก 172,286 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อนหน้า

1.4 สถานการณ์ด้านการคลัง การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในเดือนตุลาคมสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการเบิกจ่ายจากงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปรับตัวลดลง โดยหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 5,430,560.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

1.5 สถานการณ์ด้านการเงิน ในเดือนตุลาคม สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ เนื่องจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเป็นสำคัญ และในเดือนพฤศจิกายนอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง

2. สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามปรับตัวดีขึ้นจากสองไตรมาสแรกของปี โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนฟื้นตัวจากภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างช้า ๆ ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเร่งขึ้น โดยได้รับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ

3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 และ 2557 เศรษฐกิจไทยในปี 2556 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.1-3.1 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 ธันวาคม 2556--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ