(ร่าง) ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก พ.ศ. 2559-2564

ข่าวการเมือง Tuesday March 3, 2015 17:42 —มติคณะรัฐมนตรี

1. เห็นชอบทิศทางการพัฒนา และ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก พ.ศ. 2559-2564 ที่มีการบูรณาการตลอดห่วงโซ่มูลค่าของสินค้าอาหารและการบริการด้านอาหาร ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์พัฒนาสินค้าอาหาร ยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจบริการอาหาร และยุทธศาสตร์พัฒนาปัจจัยสนับสนุนที่ครอบคลุมการผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและธุรกิจบริการด้านอาหาร ให้มีคุณภาพมาตรฐานสากล และมีความปลอดภัยบนพื้นฐานของความยั่งยืน และมั่นคงทางอาหารของประเทศ

2. เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อน (ร่าง) ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลกที่มีความคล่องตัวและสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบครบวงจร

3. เห็นชอบให้มีการบูรณาการงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม (ร่าง) ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก (พ.ศ. 2559-2564) โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณ (สงป.) เร่งบรรจุในกรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินการกิจกรรมเร่งด่วนได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และสำหรับปีงบประมาณ 2560-2564 ให้มีการกำหนดประเด็นครัวไทยสู่โลกไว้ในกรอบการบูรณาการงบประมาณ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมตาม (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ได้อย่างมีบูรณาการต่อไป

(ร่าง) ยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก พ.ศ. 2559-2564 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

>>ทิศทางการพัฒนา และ(ร่างยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่โลก พ.ศ. 2559-2564

1.การพัฒนา “ครัวไทยสู่โลก” มีขอบเขตอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด “From Farm to Table” ครอบคลุมเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหาร และครอบคลุมถึงธุรกิจหรือกิจกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจสอบประเมินมาตรฐานธุรกิจโลจิสติกส์อาหาร และกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งให้ “ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสินค้าอาหาร และการบริการด้านอาหารอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ที่มีความปลอดภัยและสุขอนามัยสูง มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล”

2. (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าอาหาร ยุทธศาสตร์พัฒนาธุรกิจบริหารอาหารและยุทธศาสตร์พัฒนาปัจจัยสนับสนุน

>>กลไกการขับเคลื่อน

1. ปรับปรุงโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ องค์ประกอบคณะกรรมการฯ ที่ปรับใหม่ ประกอบด้วย

1.1 นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน

1.2 ฝ่ายเลขานุการร่วม จาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (หรือผู้อำนวยการสถาบันอาหาร) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

1.3 กรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ 13 คน เอกชน 2 คน

2. คณะกรรมการอาหารแห่งชาติเป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างองค์ประกอบคณะกรรมการดังกล่าวต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ก่อน ซึ่งขณะนี้ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติชุดปัจจุบันหมดวาระไปแล้ว จึงยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติฯ เพื่อปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการฯ ได้

3. กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติอย่างเป็นทางการ

>>แผนที่นำทางการขับเคลื่อน (ร่าง) ยุทธศาสตร์ฯ

แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  • ระยะแรก (ปีงบประมาณ 2559) เป็นระยะเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการวางพื้นฐานและปรับโครงสร้างกลไกที่ชัดเจนและเป็นเอกภาพ
  • ระยะที่สอง (ปีงบประมาณ 2560-2562) เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากระยะแรก โดยเน้นการดำเนินการตามกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่ได้กำหนดแล้วเสร็จในระยะแรก
  • ระยะที่สาม (ปีงบประมาณ 2563-2564) เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากระยะที่สองโดยมุ่งเน้นการปรับปรุงระบบมาตรฐาน และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ