รายงานสถานภาพการให้บริการข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่

ข่าวการเมือง Tuesday March 10, 2015 17:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (ทก.) เสนอดังนี้

1. รับทราบช่องทางการเข้าถึงบริการของรัฐในรูปแบบแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Applications) ได้จากจุดเดียวผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ (Government Application Center) หรือ GAC ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมทั้งสถานภาพการพัฒนา Mobile Applications ภาครัฐ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2558

2. มอบหมายให้หน่วยงานภาครัฐที่ทำการพัฒนา Mobile Applications และยังไม่ได้ให้บริการประชาชนผ่านศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ หรืออยู่ระหว่างการพัฒนา Mobile Applications ใหม่ ให้ประสานงานมายังสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ที่ศูนย์บริการลูกค้า (หมายเลขโทรศัพท์ 0 2612 6060 หรือ contact@ega.or.th) เพื่อนำ Mobile Applications บรรจุไว้ในศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการต่อไป

3. มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำการประชาสัมพันธ์บริการของภาครัฐในรูปแบบ Mobile Applications และศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์ของรัฐที่มีอยู่อย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ

ทก. รายงานว่า เพื่อเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงรายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ ที่เรียกว่า “ศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐ”(Government Application Center) หรือ GAC ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งที่ได้มีการดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ทก. โดย สรอ. ดำเนินการจดทะเบียนชื่อและเป็นผู้ถือครองโดเมนเนมภายใต้ชื่อ “apps.go.th” สำหรับเป็นศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐเพื่อเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Applications) ทั้งหมดของภาครัฐจากจุดเดียว โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลด “GAC” ในรูปแบบ Mobile Applications ได้จากอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งในระบบปฏิบัติการไอโอเอส (iOS) และแอนดรอยด์ (Android)

2. ที่ผ่านมามีหน่วยภาครัฐต่าง ๆ ได้นำ Mobile Applications ที่ได้พัฒนาขึ้นบรรจุไว้ในศูนย์กลางแอปพลิเคชันภาครัฐแล้วจำนวนทั้งสิ้น 81 Applications จาก 18 กระทรวง และ 1 กลุ่มหน่วยงานอิสระ (จากการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการ ณ วันที่ 3 มีนาคม 2558) โดยสามารถจัดหมวดหมู่และเรียงลำดับ Mobile Applications ตามประเภทของบริการที่มีการพัฒนามากที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้

2.1 หมวดการเดินทาง ขนส่ง และคมนาคม 15 applications

2.2 หมวดสุขภาพและการสาธารณสุข 15 applications

2.3 หมวดการเงินภาษีและธุรกิจ 12 applications

2.4 หมวดสิ่งแวดล้อม สังคมและชุมชน 8 applications

2.5 หมวดอื่น ๆ 6 applications

3. จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ายังมีหน่วยงานภาครัฐอีกจำนวนมากที่ทำการพัฒนา Mobile Applications และยังไม่ได้นำมาขึ้นให้บริการประชาชนผ่านศูนย์กลางแอปพลิชันภาครัฐ ซึ่งในการเข้าถึง Mobile Applications ดังกล่าว ประชาชนหรือผู้ใช้บริการยังไม่ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงบริการเท่าที่ควร อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่า หน่วยงานภาครัฐมีบริการอะไรบ้าง ที่เปิดให้บริการในรูปแบบ Mobile Applications แล้ว ส่งผลให้บริการ Mobile Applications ของหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานยังไม่มากนัก ประกอบกับ รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการดำเนินนโยบายดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐและปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยโครงการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐ จะช่วยให้ประชาชนผู้ที่รับบริการภาครัฐสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก จากทุกที่ ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Devices) ได้ ซึ่งความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว จะช่วยให้เกิดการบูรณาการทำงานจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศด้วย เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยถือความต้องการของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ความสะดวก ทั่วถึง ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสร้างความโปร่งใสในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐอีกด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 มีนาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ