โครงการให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2015 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบเงื่อนไขมาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท โดยให้มีผลบังคับใช้กับลูกค้าที่ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินมาตรการเป็นวงเงินไม่เกิน 875 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และปีต่อ ๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ บสย. ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในรายละเอียดต่อไป

2. เห็นชอบเงื่อนไขโครงการ Policy Loan และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นวงเงินรวมไม่เกิน 3,225 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และปีต่อ ๆ ไป ตามประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และ บสย. ทำความตกลงกับ สงป. ในรายละเอียดต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 อนุมัติหลักการโครงการมาตราการให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Policy Loan และ (2) มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทน SMEs ในปีแรกที่ให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท ธพว. และ บสย. ได้จัดทำโครงการ / มาตรการ ภายใต้โครงการให้ความช่วยเหลือ SMEs ดังนี้

1.1 มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่ให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) โครงการ PGS ระยะที่ 5 เป็นโครงการเดิมที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2556 โดยมีวงเงิน ค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท และคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน(ณ วันที่ 17 มีนาคม 2558 มีวงเงินค้ำประกันคงเหลือทั้งสิ้น 112,405 ล้านบาท)

2) มาตรการเพิ่มวงเงินที่รัฐชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ PGS ระยะที่ 5 เพิ่มอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท (เป็นส่วนหนึ่งของวงเงิน 240,000 ล้านบาท) เพื่อลดภาระค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยให้มีผลบังคับใช้กับลูกค้าที่ยื่นขอค้ำประกันสินเชื่อนับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของมาตรการดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558

3) บสย. จำเป็นต้องขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลจำนวนไม่เกิน 875 ล้านบาท (ร้อยละ 1.75 X วงเงิน 50,000 ล้านบาท)

1.2 โครงการ Policy Loan มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่ประสบ ปัญหาขาดสภาพคล่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพให้มีสภาพคล่องสำหรับปรับปรุงกิจการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการเนื่องจากมี Specialized Financial Institution: SFIs (SFIs) เป็นผู้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีสาระสำคัญของโครงการสรุปได้ ดังนี้

โครงการ Policy Loan

1. วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท โดยต้องเป็นลูกหนี้ใหม่และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-Finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น

2. วงเงินสินเชื่อต่อรายให้เป็นไปตามมติของที่ประชุม คนร.

3. ระยะเวลาการกู้ยืมไม่เกิน 5 ปี

4. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ตลอดระยะเวลา 3 ปี ส่วนปีที่ 4 และปีที่ 5 ให้เป็นไปตามอัตรา ดอกเบี้ยที่ ธพว. กำหนด

5. รัฐชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. ร้อยละ 3 ในส่วนของเงินให้สินเชื่อ 15 ล้านบาทแรก ในช่วง 3 ปีแรก

6. ให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Policy Loan ของ ธพว. โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

6.1 วงเงินค้ำประกันรวม 15,000 ล้านบาท

6.2 วงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท

6.3 ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 5 ปี

6.4 ค่าธรรมเนียมค้ำประกันอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ ตลอดอายุการค้ำประกัน 5 ปี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ปีที่ 1 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทน SMEs ในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน
  • ปีที่ 2 และ 3 รัฐบาลเป็นผู้รับภาระชดเชยค่าธรรมเนียมแทน SMEs ในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน (SMEs รับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเองร้อยละ 1 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน)
  • ปีที่ 4 และ 5 ผู้ประกอบการ SMEs รับภาระค่าธรรมเนียมเองเต็มจำนวนในอัตราร้อยละ 1.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน

6.5 การจ่ายค่าประกันชดเชยของ บสย.

6.5.1 บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกัน SMEs แต่ละราย (Coverage Ratio per SME) เป็นสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี

6.5.2 บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกันในแต่ละ Portfolio (Coverage Ratio per Portfolio) สูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ย ตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี

7. ธพว. และ บสย. จำเป็นต้องขอรับงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,225 ล้านบาท ประกอบด้วย

7.1 ชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. จำนวนไม่เกิน 1,350 ล้านบาท (วงเงิน 15,000 ล้านบาท X อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 X ระยะเวลา 3 ปี)

7.2 ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้แก่ บสย. จำนวนไม่เกิน 487.50 ล้านบาท (วงเงิน 15,000 ล้านบาท X (ปีที่ 1 ร้อยละ 1.75 + ปีที่ 2 ร้อยละ 0.75 + ปีที่ 3 ร้อยละ 0.75))

7.3 ชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่ บสย. ในส่วนต่างระหว่างค่าประกันชดเชยกับ ค่าธรรมเนียมที่ได้รับ จำนวน 1,387.50 ล้านบาท [(15,000 ล้านบาท X ร้อยละ 18) – (15,000 ล้านบาท X ร้อยละ 1.75 X 5 ปี)]

8. กำหนดให้เริ่มรับคำขอตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน เพื่อเป็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าร่วมโครงการ Machine Fund ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรสามารถเข้าร่วมโครงการ Policy Loan ได้เช่นเดียวกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ