การประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2015 16:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 6

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างปฏิญญากรุงเนปิดอว์การประชุมผู้นำ (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 6 และร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี 2559 – 2561

2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าว (ตามข้อ 1)

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว (ตามข้อ 1) ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา อีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. ACMECS เป็นข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2546 ปัจจุบันมีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เมียนมา และเวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดช่องว่างด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการค้าชายแดน และสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน โดยมี 8 สาขาความร่วมมือ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้มีการประชุมผู้นำแล้ว 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดจัดที่เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เมื่อเดือนมีนาคม 2556

2. เมียนมาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 ที่กรุงเนปิดอว์ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2558 ซึ่งจะมีการรับรองร่างเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างปฏิญญากรุงเนปิดอว์ การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 และ (2) ร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี 2559 – 2561 สาระสำคัญในร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้

2.1 ร่างปฏิญญากรุงเนปิดอว์การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 6 กล่าวถึงการรับรองแผนปฏิบัติการ ACMECS ในปี 2559 – 2561 การแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำที่จะส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือใน 8 สาขา นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการและแผนงานต่าง ๆ ภายใต้กรอบ ACMECS ด้วย โดยมี 8 สาขา ดังนี้ 1. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน 2. การเกษตร 3. อุตสาหกรรมและพลังงาน 4. การเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่ง 5. การท่องเที่ยว 6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. สาธารณสุข และ 8. สิ่งแวดล้อม

2.2 ร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี 2559 – 2561 มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเป็นฐานการผลิตเดียวกันของอนุภูมิภาคสนับสนุนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก โดยระบุแผนการดำเนินการตาม 8 สาขา ดังนี้ 1. การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน 2. การเกษตร 3. อุตสาหกรรมและพลังงาน 4. การเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่ง 5. การท่องเที่ยว 6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. สาธารณสุข และ 8. สิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ร่างแผนปฏิบัติการฯ ยังระบุถึงการสนับสนุนให้หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการภายใต้กรอบ ACMECS และชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการสำคัญตามระเบียงเศรษฐกิจ รวมทั้งการสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและการจัดตั้งเมืองคู่แฝดเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองชายแดน

3. สาระสำคัญของเอกสาร 2 ฉบับดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของไทยและช่วยเสริมการดำเนินการของอาเซียนและกรอบอนุภูมิภาคอื่น ๆ ในการลดช่องว่างการพัฒนาและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และการไปมาหาสู่ในระดับประชาชนระหว่างประเทศสมาชิก ตลอดจนจะช่วยนำไปสู่ความกินดีอยู่ดียิ่งขึ้นของประชาชนในอนุภูมิภาคด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงบทบาทผู้นำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากไทยเป็นผู้ริเริ่มกรอบความร่วมมือนี้ รวมทั้งร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มิได้มีเจตนาหรือใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างรัฐบาลภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ