การช่วยเหลืออพยพคนไทยออกจากประเทศเยเมน

ข่าวการเมือง Tuesday June 16, 2015 16:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติกำหนดให้วันที่ 17 มิถุนายน 2558 (ก่อนวันเริ่มถือศีลอด) เป็นวันสิ้นสุดการใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลืออพยพคนไทยออกจากประเทศเยเมนโดยไม่ต้องชดใช้คืนเงินทางราชการ และหากมีค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือนักศึกษาและคนไทยออกจากประเทศเยเมนนับตั้งแต่ วันที่ 18 มิถุนายน 2558 ให้เบิกจ่ายจากงบเงินอุดหนุน รายการเงินช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ โดยให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ พ.ศ. 2549

2. รับทราบการปฏิบัติงานในระดับเฝ้าระวัง โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต และกรมการกงสุล กต.

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2558

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. ได้รายงานผลการดำเนินงานในการช่วยเหลืออพยพคนไทยออกจากประเทศเยเมน สรุปได้ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลืออพยพคนไทยออกจากเยเมน

1.1 กต. ได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการเพื่อช่วยเหลือคนไทยในเยเมน ณ กต. ถนนศรีอยุธยา ศูนย์ปฏิบัติการย่อยที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล และศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ณ เมือง Salalah สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต ประเทศโอมาน เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจสนับสนุนการอพยพนักศึกษาและคนไทยออกจากประเทศเยเมน

1.2 เส้นทางการอพยพ ได้แก่ เส้นทางการอพยพ ได้แก่ (1) โอมาน – เยเมน (เมือง AL – Mazyuna และเมือง Sarfaif) (2) โอมาน – กาตาร์ (3) เยเมน – ซาอุดีอาระเบีย (เมือง Jizan) (4) เยเมน – เอธิโอเปีย – จีบูติ โดยจนถึงวันนี้ (10 มิถุนายน 2558) ได้ช่วยเหลือนักศึกษาและคนไทยที่สมัครใจออกจากประเทศเยเมน จำนวน 129 คน และมีรายงานการแจ้งกลับในวันที่ 14 มิถุนายน 2558 จำนวน 20 คน ทั้งนี้ มีนักศึกษาและคนไทยแจ้งไม่ประสงค์จะอพยพออกจากประเทศเยเมน จำนวน 44 คน

1.3 สำหรับคนไทยที่ยังประสงค์พำนักอยู่ในเยเมนในปัจจุบัน จำนวน 44 คน นั้น ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ณ เมือง Salalah (สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต) ได้ติดต่อประสานงานกับนักศึกษาย่างใกล้ชิด และโดยที่เริ่มเข้าสู่เดือนรอมฎอน รวมทั้งพื้นที่ที่นักศึกษาที่แสดงความประสงค์จะยังคงพำนักอยู่ในเยเมนต่อไปนั้น อยู่ในบริเวณพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบ ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ณ เมือง Salalah จึงได้เคลื่อนย้ายการปฏิบัติงานดังกล่าวมายังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต (ซึ่งมีระยะห่าง 1,000 กิโลเมตร ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง) โดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต และกรมการกงสุลจะปฏิบัติการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในเยเมน รวมทั้งติดต่อกับกลุ่มนักศึกษา/คนไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะเข้าช่วยเหลืออพยพคนไทยเหล่านี้ทันที หากสถานการณ์การสู้รบในเยเมนทวีความรุนแรง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 มิถุนายน 2558--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ