การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20

ข่าวการเมือง Tuesday September 8, 2015 18:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 และร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐมนตรีประจำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS Minister) เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้แผนงาน GMS รวมทั้งเพื่อปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ในวันที่ 10 กันยายน 2558 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีของไทยในแผนงาน GMS โดยต่อเนื่องต่อไป

2. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) ได้ร่วมกับรัฐมนตรีของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงให้ความเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีฯ โดยไม่มีการลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ในวันที่ 10 กันยายน 2558 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

3. เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สามารถ ปรับปรุงถ้อยคำในแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี ฯ ได้ในกรณีที่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้ง สาระสำคัญของเรื่อง

1. การเข้าร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ ดังนี้

1.1 สร้างความเชื่อมมั่นแก่นักลงทุนจากต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ การค้า การลงทุน การบริการและการท่องเที่ยว ตามพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

1.2 เป็นโอกาสในการนำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอนุภูมิภาค โดยนำเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของไทยในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาระบบถนน ระบบราง และด้านพรมแดน เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งมีความพร้อมร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมดังกล่าวด้วย

1.3 เป็นโอกาสในการนำเสนอบทบาทความเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในภูมิภาคของไทย ในการร่วมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทั้งทางด้านการเงินและทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

1.4 เป็นโอกาสในการระบุถึงประเด็นปัญหาและข้อจำกัดทางด้านสังคมและร่วมกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน อาทิ ปัญหาทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และแรงงานข้ามพรมแดน เป็นต้น

2. ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรีแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) ครั้งที่ 20 ณ กรุงเนปยิดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาระสำคัญคือ เป็นการทบทวนความสำเร็จที่ผ่านมาภายใต้แผนงาน GMS ประกอบด้วย ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบการลงทุนในภูมิภาค (RIF-IP) ปี 2557-2561 และหารือถึงแนวทางในการนำแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าวสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตั้งมั่นและลงมือปฏิบัติตามข้อสั่งการของผู้นำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยการเขาสู่ความเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน และการนำประเด็นหลังปี 2557 ของสหประชาชาติในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาปรับใช้ตลอดจนประเมินบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ของแผนงาน GMS ในการเสริมสร้างความเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 กันยายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ