ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

ข่าวการเมือง Tuesday September 15, 2015 17:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (วาระการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (วาระการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ สคก. เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สคก. เสนอว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (วาระการดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ) สรุปผลการพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

1. กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาสมทบ โดยกำหนดอายุขั้นสูงไว้ตามประเด็นที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุฯ) มอบหมาย เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินในการรับสมัครบุคคลเป็นผู้พิพากษาสมทบ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25 (1) เป็น “มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินเจ็ดสิบห้าปีบริบูรณ์ในวันยื่นใบสมัคร” เพื่อให้ระบบคัดเลือกและควบคุมผู้พิพากษาสมทบมีความสมบูรณ์พร้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนดำรงตำแหน่ง ระหว่างดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่ง (ร่างมาตรา 3 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 25 (1))

2. แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาสมทบ ซึ่งเดิมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตัดความเดิมว่า “ผู้พิพากษาสมทบที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระให้คงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้พิพากษาสมทบคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่” ออก ซึ่งต่อมา ศย. ขอให้คงความในวรรคแรกของมาตรา 25/1 โดยชี้แจงภายหลังว่าอาจมีกรณีผู้พิพากษาสมทบครบสาระพร้อมกันทั้งศาล จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดให้ผู้พิพากษาสมทบที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระคงต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าผู้พิพากษาสมทบคนใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เพื่อมิให้เกิดช่องว่างในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้แทน ศย. มิได้ชี้แจงปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตั้งแต่ต้น และผู้แทน ศย. มิได้ขัดข้องกับการตัดความดังกล่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวตามที่ผู้แทน ศย. ชี้แจงเห็นควรคงความดังกล่าวตามร่างเดิมในวรรคหนึ่งของมาตรา 25/1 (ร่างมาตรา 5 (เพิ่มมาตรา 25/1))

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กันยายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ