การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากล โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง

ข่าวการเมือง Tuesday November 17, 2015 16:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากล โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Programme – Continuous Monitoring Approach : USAP–CMA) ระหว่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและราชอาณาจักรไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากล โดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Programme – Continuous Monitoring Approach : USAP–CMA) ระหว่างองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและราชอาณาจักรไทย

2. ให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความพร้อมด้านการกำกับดูแล ด้านการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือน ใน 8 องค์ประกอบ (Critical Elements) ตามแนวทางการตรวจสอบของ ICAO และแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเป็นอุปสรรคเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า ประเทศไทยจะมีการดำเนินการด้านการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนที่เป็นมาตรฐานสากล สามารถผ่านการตรวจสอบของ ICAO ได้ และรายงานผลการดำเนินการดังกล่าว พร้อมเสนอขออนุมัติการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ต่อคณะรัฐมนตรีอีกครั้งโดยเร่งด่วนต่อไป

สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจว่าด้วย USAP-CMA เป็นการร่วมมือกับ ICAO เพื่อให้คณะผู้ตรวจสอบของ ICAO เข้ามาตรวจสอบการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนของประเทศไทยทั้งระบบ โดยประเทศไทยจะต้องตอบแบบสอบถามและให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับกิจกรรมด้านการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนและข้อมูลการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อแนะนำอันพึงปฏิบัติตามภาคผนวก 17 ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัย (Security) และข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัยการบินในภาคผนวก 9 ว่าด้วยการอำนวยความสะดวก (Facilitation) ของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1944 นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบ ณ สถานที่ทำการ (on-site audit) ซึ่งในระหว่างการตรวจสอบ ฝ่ายไทยจะต้องอำนวยความสะดวกให้คณะผู้ตรวจสอบสามารถเข้าถึงข้อมูลเอกสาร พื้นที่ต่าง ๆ ของสนามบิน และสามารถสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบว่า ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปรับปรุงงานด้านการรักษาความปลอดภัยในการบินพลเรือนในส่วนใดและอย่างไรให้สอดคล้องกับภาคผนวกดังกล่าว โดย ICAO จะแจ้งผลการตรวจสอบให้ประเทศไทยทราบเพื่อนำมาจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับการแก้ไขปรับปรุงด้านการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน และนำผลการตรวจสอบบางส่วนขึ้นเว็บไซต์โดยกำหนดชั้นความลับในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ