หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาการเปิด – ระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ

ข่าวการเมือง Tuesday January 26, 2016 18:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ได้แก่

1. เห็นชอบในหลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาการเปิด – ระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นหลักในการพิจารณาของส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความละเอียดรอบคอบและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น อันจะสามารถรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงของชาติได้อย่างเหมาะสม

2. มอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ดำเนินการแจ้งหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้จังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อนำไปเป็นหลักในการยึดถือปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาการระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้

1. สถานการณ์ที่ส่งผลต่อการสั่งระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ ได้แก่

1) เกิดภัยสงครามหรือการจลาจลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่

2) เกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ และการดำเนินกิจกรรม

3) เกิดความเสียหายด้านโครงสร้างพื้นฐาน ณ บริเวณจุดผ่านแดน ทำให้ไม่สามารถสัญจรข้ามแดนหรือดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ได้

4) เกิดการกระทำใด ๆ ณ บริเวณจุดผ่านแดนทำให้มีผลกระทบต่อเอกราช อธิปไตย และบูรณภาพ แห่งดินแดนของประเทศ

5) มีการก่อสร้างหรือดำเนินการใด ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งตามบริเวณจุดผ่านแดน ที่มีผลกระทบต่อสันปันน้ำและเส้นเขตแดน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

6) สถานการณ์อื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่

2. ขั้นตอนการปฏิบัติในการสั่งระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ ได้แก่

1) จุดผ่านแดนถาวร ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณา

2) จุดผ่านแดนชั่วคราว ให้นำเสนอกระทรวงมหาดไทย (มท.) พิจารณา และต้องให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบการปิดจุดผ่านแดนดังกล่าวก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติสั่งให้ระงับหรือปิดจุดผ่านแดน

3) จุดผ่อนปรนการค้า ให้ สมช. นำไปพิจารณาและทบทวนใหม่ ในการดำเนินการสั่งระงับหรือปิดจุดผ่อนปรนการค้าเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

4) จุดผ่อนปรนพิเศษ ให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณานำเสนอ มท. พิจารณา และต้องให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบการปิดจุดผ่อนปรนพิเศษดังกล่าวก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติสั่งให้ระงับหรือปิดจุดผ่อนปรนพิเศษ

ทั้งนี้ ในกรณีเร่งด่วนหรือฉุกเฉินเฉพาะหน้าเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยบริเวณจุดผ่านแดนส่วนราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายย่อมสามารถสั่งระงับหรือปิดจุดผ่านแดนได้ แต่ให้แจ้ง สมช. ทราบโดยด่วนเพื่อกลั่นกรองเหตุผลและดุลยพินิจก่อนแจ้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. กลไกการพิจารณาการสั่งระงับหรือปิดจุดผ่านแดนประเภทต่าง ๆ ได้แก่

1) หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการระงับหรือปิดจุดผ่านแดนในกรณีจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินเฉพาะหน้า หน่วยงานรับผิดชอบหลักตามสถานการณ์นั้น ๆ จะอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุมจุดผ่านแดนในพื้นที่ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับการผ่านเข้า – ออกทั้งคน ยานพาหนะ และสิ่งของในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

2) กรณีที่มีการก่อสร้างหรือดำเนินการใด ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งตามบริเวณจุดผ่านแดนที่มีผลกระทบต่อสันปันน้ำและเส้นเขตแดน รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานในพื้นที่ต้องดำเนินการเจราจาหรือประท้วงโดยทันที หากเลยเวลาอันสมควรแล้วยังไม่ยุติการกระทำ หน่วยงานรับผิดชอบหลักจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการควบคุมจุดผ่านแดนในพื้นที่ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการระงับการผ่านเข้า – ออก ทั้งคน ยานพาหนะ และสิ่งของในพื้นที่ ดังกล่าวเป็นการชั่วคราวได้ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2559--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ