ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .....

ข่าวการเมือง Tuesday February 2, 2016 18:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ..... ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ตช. เสนอว่า

1. โดยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 88/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) โดยได้ยกเลิกความในมาตรา 17 มาตรา 18 (3) มาตรา 30 มาตรา 33 ถึง มาตรา 41 มาตรา 53 (1) มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 57 วรรคสอง วรรคสาม ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวได้กำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ ก.ต.ช. และ ก.ตร. มาจากการเลือกของวุฒิสภา ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติเกี่ยวกับกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ สมควรกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว

2. นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินการทางวินัยตามมาตรา 87 และ 94 ของพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติดังกล่าวจำเป็นต้องปรับแก้ไขเพื่อขยายระยะเวลาดำเนินการสอบสวนข้าราชการตำรวจที่กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงที่ออกจากราชการไปแล้ว หากถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ก่อนออกจากราชการ เช่นเดียวกับกรณีถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ก่อนออกจากราชการ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาเร่งรัดการสอบสวนการพิจารณาสั่งการและการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในกรณีดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติราชการ และเสริมสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติเกี่ยวกับดำเนินการทางวินัย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่ถูกยกเลิกตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 และแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติดังกล่าว ดังนี้

พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

มาตรา 19 “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 17 (2) ต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านกฎหมาย การงบประมาณ การพัฒนาองค์กรการวางแผนหรือบริหารและจัดการ

มาตรา 21 “กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา 22 วรรคสอง

“ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการแทน เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวันในกรณีนี้จะไม่ดำเนินการให้มีการสรรหาก็ได้”

มาตรา 22 วรรคสาม “ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระที่เหลืออยู่ของซึ่งตนแทน

มาตรา 23 วรรคสอง

“ในการประชุม ก.ต.ช. ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม”

มาตรา 23 วรรคสาม

“ประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่ง จะมอบหมายบุคคลใดให้มาประชุมแทนไม่ได้”

มาตรา 33 (ที่ถูกยกเลิก) กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 และต้องไม่เป็นข้าราชการหรือกลับเข้ารับราชการ สำหรับกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 30 (2)(ก) และต้องไม่เป็นข้าราชการตำรวจ สำหรับกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 30 (2)(ข)

ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ ก.ตร. เป็นผู้วินิจฉัย

มาตรา 42 การประชุม ก.ตร. ต้องมีกรรมการข้าราชการตำรวจมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการข้าราชการตำรวจทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม

ในกรณีที่ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการข้าราชการตำรวจที่มาประชุมเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ให้ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นผู้เรียกประชุม แต่ในกรณีที่กรรมการข้าราชการตำรวจไม่น้อยกว่าหกคนร้องขอให้เรียกประชุมให้ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจเรียกประชุมภายในเจ็ดวันนับแต่วันได้รับรองขอ

ให้ ก.ตร. มีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการประชุมและการลงมติของ ก.ตร. และของอนุกรรมการตามมาตรา 31 (9)

มาตรา 87 หลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเกี่ยวกับการสืบสวน และการสอบสวนที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 84 และมาตรา 86 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

มาตรา 94 ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือมีกรณีถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้แล้ว แม้ต่อมาข้าราชการตำรวจผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้วก็ให้ทำการสอบสวนต่อไปได้ แต่ต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันออกจากราชการ

ร่าง พรบ. ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 19 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 17 (4) ต้องมีความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในสาขากฎหมายจำนวนหนึ่งคน และสาขาการพัฒนาองค์กรหรือสาขาการวางแผน หรือสาขาการบริหารและจัดการอีกจำนวนหนึ่งคน”

มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

“มาตรา 20/1 การเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 17 (4) ให้วุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19 และมาตรา 20 จำนวนสองเท่าของจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละสาขาความเชี่ยวชาญตามมาตรา 19 ที่ต้องเลือกเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเลือกต่อไป

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 21 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีและอาจได้รับการเลือกใหม่ได้แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

ในกรณีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้ประธานกรรมการแจ้งให้วุฒิสภาทราบเพื่อดำเนินการจัดให้มีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ภายในเก้าสิบวัน ก่อนวันครบวาระให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกใหม่เข้ารับหน้าที่”

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“กรณีเป็นที่สงสัยว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิผู้ใดพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหรือไม่ให้ประธานกรรมการเสนอ ก.ต.ช. เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ประธานกรรมการขอให้วุฒิสภาเลือกกรรมการแทนตามสาขาความเชี่ยวชาญนั้น เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน ในกรณีนี้จะไม่ดำเนินการให้มีการเลือกก็ได้

ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกตามวรรคสามอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระของผู้ซึ่งตนแทน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำรงตำแหน่งตามวรรคสามหากมีวาระเหลืออยู่ไม่ถึงหนึ่งปีนับแต่วันดำรงตำแหน่งไม่ให้นับเป็นวาระการดำรงตำแหน่ง”

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในการประชุม ก.ต.ช. ถ้าประธานกรรมการไม่มาหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรองประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการโดยตำแหน่ง จะมอบหมายบุคคลใดให้มาประชุมแทนไม่ได้”

มาตรา 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 88/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติลงวันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 “มาตรา 33 กรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 20 มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ในการประชุม ก.ตร. ถ้าประธานกรรมการข้าราชการตำรวจไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานกรรมการข้าราชการตำรวจเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการข้าราชการตำรวจและรองประธานกรรมการข้าราชการตำรวจไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการข้าราชการตำรวจที่มาประชุมเลือกกรรมการข้าราชการตำรวจคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม”

มาตรา 10 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 87 หลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเกี่ยวกับการพิจารณาในเบื้องต้น การสืบสวนและการสอบสวนที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 84 และมาตรา 86 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร.

มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 94 ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงไว้แล้ว แม้ต่อมาข้าราชการตำรวจผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้ว ก็ให้ทำการสอบสวนต่อไปได้ แต่ต้องดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันออกจากราชการ หากดำเนินการสอบสวนไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนสั่งขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นไม่เกินสองครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกินหกสิบวัน

ข้าราชการตำรวจผู้ใดมีกรณีถูกชี้มูลความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้แล้ว แม่ต่อมาข้าราชการตำรวจผู้นั้นจะออกจากราชการไปแล้ว ก็ให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติต่อไปได้

การดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้กระทำได้เสมือนว่าผู้นั้นยังมิได้ออกจากราชการ เว้นแต่กรณีที่ผลการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยที่จะต้องลงโทษ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยามหรือกักขัง ก็ให้งดโทษนั้นเสีย”

มาตรา 12 กรณีที่ข้าราชการตำรวจผู้ใดถูกสอบสวนในกรณีการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงต่อมาข้าราชการตำรวจผู้นั้นได้ออกจากราชการไปแล้ว ซึ่งต้องทำการสอบสวนต่อไปให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ถ้ายังสอบสวนไม่แล้วเสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ก็ให้ทำการสอบสวนต่อไปให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามกฎหมายเดิม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ