รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2016 17:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ

2. อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการจัดทำรูปแผนที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระดับประถมศึกษาออกไปอีก 180 วัน และให้ชะลอการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระดับอนุบาลเพื่อประเมินการดำเนินการในภาพรวม

3. อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการพิจารณาทบทวนเขตสถานบริการ (Zoning) ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการออกไปอีก 180 วัน

4. ในส่วนของการกำหนดแนวเขตบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาเนื่องจากเป็นเรื่องที่ คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติในหลักการไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อกระทรวงยุติธรรมดำเนินการแล้วเสร็จ และหากจะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. เสนอว่า

1. มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 เห็นชอบกับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทาง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ตามที่ ยธ. เสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรการดังกล่าวไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2558 จัดตั้งศูนย์อำนวยการประสานกำกับติดตามผลการดำเนินงาน (ศอ.กต.) โดยมีหน้าที่อำนวยการประสานงานกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558

ปัญหาและอุปสรรค

1. ยังมิได้มีการจัดทำรูปแผนที่สำหรับสถานศึกษาระดับประถมศึกษา และระดับอนุบาล เนื่องจากระยะเวลาไม่เพียงพอ ประกอบกับมีข้อหารือถึงความจำเป็นที่ต้องกำหนดรูปแผนที่สำหรับสถานศึกษาในระดับอนุบาลเนื่องจากอาจไม่ส่งผลต่อการสนับสนุนนโยบายในเรื่องนี้ เพราะเด็กมีอายุน้อยเกินไปและไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

2. การพิจารณาทบทวนเขต Zoning ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มเติมและยังมีข้อควรพิจารณาเสนอเป็นพระราชกฤษฎีกา

3. การสำรวจข้อมูลของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ข้อมูลจากหลายฝ่ายและต้องใช้เวลาในการดำเนินการในระยะยาว

4. การกำหนดรูปแผนที่ควรมีช่องทางให้ประชาชน ผู้เกี่ยวข้อง ได้ทราบและเข้าถึง

แนวทางแก้ไข

1. เสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติให้ขยายระยะเวลาการจัดทำรูปแผนที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระดับประถมศึกษาออกไปอีก 180 วัน และขออนุมัติให้ชะลอการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระดับอนุบาล เพื่อประเมินการดำเนินการในภาพรวม

2. อนุมัติให้ขยายระยะเวลาออกไปอีก 180 วัน เพื่อพิจารณาทบทวนเขต Zoning ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

3. การจัดทำรูปแผนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่แต่ละจังหวัดใช้ในการซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตรงกันเท่านั้น จึงเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการกำหนดแนวเขตบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา และให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบนำไปติดประกาศเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบกันอย่างทั่วถึงโดยเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วจะได้นำมติคณะรัฐมนตรีไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ทราบเป็นการทั่วไปว่ามีการกำหนดแนวเขตบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาไว้แล้วตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปเผยแพร่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ