มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร

ข่าวการเมือง Tuesday February 23, 2016 17:48 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 และโครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย โดยในส่วนของโครงการสินเชื่อ สินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการ

2. เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤตภัยแล้ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 2559 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณเพื่อจ่ายชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ ธ.ก.ส. ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และในปีต่อ ๆ ไป รวมทั้งให้โครงการฯ ดังกล่าวเป็นโครงการแยกบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account : PSA)

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า ธ.ก.ส. ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถทางการเกษตร โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้ง ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินและจำเป็นของเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ปี 2558/2559 มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในระยะเร่งด่วนที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ รายได้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสภาวะสังคม โดยการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนที่จำเป็นสำหรับการดำรงขีพของเกษตรกรและผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง สำหรับเกษตรกรลูกค้ารายย่อยของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ จำนวน 50,000 ราย

2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร เป็นมาตรการส่งเสริมทางการเงิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตการเกษตร ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตรของประเทศและจะเป็นการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติอื่น ๆ ในระยะกลาง ประกอบด้วย

2.1 โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 SME เกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตรไทย สำหรับเกษตร กลุ่มเกษตร สหกรณ์การเกษตร ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน รวมทั้งองค์กรที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบใด ที่มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการประกอบอาชีพของเกษตรกร ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเกษตรหรือเกี่ยวเนื่องภาคเกษตร มีความคิดสร้างสรรค์เรียนรู้หรือสร้างนวัตกรรมการเกษตร หรือใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการ ดังนี้

  • ใช้ต้นแบบ SME เกษตร ที่ประสบความสำเร็จเป็นหัวขบวนนำไปสู่การขยายผลทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อให้สามารถดำเนินการได้เร็วและลดความเสี่ยง
  • ประสานความร่วมมือกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องตามข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุน SME เกษตร เพื่อร่วมกันคัดกรอง SME เกษตร กลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ
  • สนับสนุน SME เกษตร ให้มีความรู้ด้านการผลิตการแปรรูปตามมาตรฐาน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงความรู้ และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
  • ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความสามารถในการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตและผลิตภัณฑ์ตามโครงการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงการค้าปลีกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยว

2.2 โครงการชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิตสู้วิกฤติภัยแล้ง สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและลุ่มแม่น้ำแม่กลอง 26 จังหวัด จำนวน 100,000 ราย ที่มีความสมัครใจปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและผ่านการคัดเลือกจากชุมชน ซึ่งในที่นี้หมายถึง กลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. กลุ่มอาชีพ หรือวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพและอยู่ในพื้นที่ประสบวิกฤติภัยแล้งดังกล่าว โดยมีแนวทางการดำเนินโครงการฯ ดังนี้

1) ให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ส่วนราชการและสถาบันการศึกษา ตามหลักการประชารัฐ

2) มีตลาดรองรับก่อนเริ่มการผลิต

3) เกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการ

4) เน้นเฉพาะพื้นที่ประสบวิกฤตภัยแล้งก่อน (ระยะเร่งด่วน)

5) ทำการผลิตในพื้นที่ที่ชุมชนจัดสรรให้หรือในพื้นที่ของเกษตรกรเอง

6) เน้นการผลิตการเกษตรที่ให้ผลตอบแทนเร็วและได้มาตรฐานคุณภาพตามความต้องการของตลาด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ