ท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย – อิรัก ครั้งที่ 4

ข่าวการเมือง Tuesday March 22, 2016 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เห็นชอบ และอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชน์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. รับทราบร่างองค์ประกอบผู้แทนไทยในการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย – อิรัก ครั้งที่ 4

2. เห็นชอบในหลักการต่อประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าสำหรับการหารือกับอิรัก และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ใช้เป็นกรอบการหารือสำหรับการประชุม JTC ไทย – อิรัก ครั้งที่ 4

3. หากในการประชุมดังกล่าวมีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับอิรัก โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้ พณ. และผู้แทยไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองผลการประชุม JTC ไทย-อิรัก ครั้งที่ 4 รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการหารือขยายความร่วมมือเฉพาะด้าน (หากมี)

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

10. การประชุม JTC ไทย – อิรัก ครั้งที่ 4 เป็นการประชุมในระดับรัฐมนตรี โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยและกระทรวงการค้าอิรักเป็นประธานร่วม ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง และในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 4 ซึ่งไทยมีกำหนดเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2559 ณ พณ.

11. ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันในสาขาที่ฝ่ายอิรักสนใจจะร่วมมือกับไทย ซึ่งเป็นสาขาที่ฝ่ายอิรักขอความร่วมมือกับไทยในการประชุม JTC ครั้งที่ 3 อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การธนาคาร สาธารณสุข การก่อสร้างที่พักอาศัยและการเข้าร่วมการประมูล การลงทุน การไฟฟ้า การประปาและการบำบัดน้ำเสีย การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการวางโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา และข่าวสาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยินดีให้ความร่วมมือและจะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละสาขาตามที่ฝ่ายอิรักเสนอ

12. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ สร้างและขยายโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าว รวมถึงสินค้ารายการอื่น ๆ ที่มีโอกาสในการเข้าไปขยายตลาด ได้แก่ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากยางพลาสติกและผลิตภัณฑ์จากพลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า เครื่องซักผ้า กระดาษและผลิตภัณฑ์ ซึ่งไทยส่งออกไปยังอิรักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับอิรัก

13. องค์ประกอบผู้แทนไทย จำนวน 14 คน ประกอบด้วย

พณ.

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (หัวหน้าผู้แทนไทย)

2. อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือผู้แทน

3. อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ หรือผู้แทน

4. อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือผู้แทน

5. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหรือผู้แทน

6. ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครดูไบ

หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ

1. ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้แทน

2. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทน

3. ปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้แทน

4. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผู้แทน

5. ปลัดกระทรวงการคลัง หรือผู้แทน

6. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้แทน

7. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือผู้แทน

8. ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ