มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6)

ข่าวการเมือง Tuesday November 22, 2016 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากขึ้นผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. โดยเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย และสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินใช้บริการค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. มากขึ้น จึงเสนอโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS รยะที่ 6) ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดำเนินโครงการเปรียบเทียบกับโครงการ PGS ระยะที่ 5 (ปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558) สรุปได้ ดังนี้

1. คุณสมบัติผู้ขอค้ำประกัน เป็น SMEs ที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท ประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย และประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี และได้รับสินเชื่อใหม่และจะต้องไม่นำไปชำระหนี้เดิมกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้และต้องเป็น SMEs ที่ผู้ให้กู้ได้วิเคราะห์แล้วว่ามีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความสามารถในการชำระหนี้คืนผู้ให้กู้ได้

2. ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี

3. วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท

4. วงเงินค้ำประกันต่อราย ไม่เกิน 40 ล้านบาท ต่อรายต่อสถาบันการเงิน

5. ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

6. การรับภาระค่าธรรมเนียมของภาครัฐ รัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ ในปีที่ 1 อัตราร้อยละ 1.75 ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 1.25 ปีที่ 3 อัตราร้อยละ 0.75 และปีที่ 4 อัตราร้อยละ 0.25 รวมวงเงินชดเชย 4,000 ล้านบาท

7. วิธีการจ่ายค่าประกันชดเชยในแต่ละ Portfolio บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตามภาระค้ำประกัน SMEs ในระดับภาระค้ำประกันที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non- Performing Guarantee : NPG) สูงสุดไม่เกิน ร้อยละ 30 ของแต่ละ Portfolio ทั้งนี้ บสย. จะเริ่มจ่ายค่าประกันชดเชยครั้งแรกในปีที่ 2 ของการค้ำประกัน และในปีถัดไปจนครบเมื่อสิ้นสุดการค้ำประกัน

8. ระยะเวลาดำเนินโครงการ สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2559 (วงเงินค้ำประกันเต็มเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2559)

9. การชดเชยจากรัฐบาล รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปี แรก 4,000 ล้านบาท และชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดอายุโครงการ 7 ปี 10,250 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 14,250 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ