ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย

ข่าวการเมือง Tuesday March 14, 2017 17:54 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบการเข้าเป็นภาคีความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในเอกสารตอบรับเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวไปยังผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations : FAO)

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ.รายงานว่า

1. ความตกลงการทำประมงสำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (SIOFA) เป็นความตกลงระหว่างประเทศเพื่อจัดตั้งองค์การจัดการด้านการประมงระดับภูมิภาค (Regional Fishery Management Organization : RFMOS) ที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงจำพวกอื่น ๆ (นอกเหนือจากปลาทูน่าและปลาที่คล้ายปลาทูน่า) สำหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอย่างยั่งยืน โดยความตกลงดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมผู้มีอำนาจเต็ม (Conferrence of Plenipotentiaries) ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา SIOFA เป็นความตกลงที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กระบวนการตัดสินใจของ FAO แต่ FAO เป็นองค์กรรับฝากตราสารการเข้าร่วมเป็นสมาชิก (Depositary) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย หมู่เกาะคุก สหภาพยุโรป สาธารณรัฐฝรั่งเศล ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐมอริเซียส และสาธารณรัฐเซเชลล์ นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่ร่วมลงนามแต่ยังมิได้ให้สัตยาบัน หรือให้ความเห็นชอบต่อข้อตกลงจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ สหภาพคอโมโรส สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐมาดากัสการ์ สาธารณรัฐโมซัมบิก และประเทศนิวซีแลนด์

2. วัถตุประสงค์ของความตกลง SIOFA คือ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อร่วมพิจารณากำหนดระเบียบปฏิบัติ ระเบียบการเงิน มาตรการบริหารการจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ทรัพยากรประมงจำพวกอื่น ๆ (นอกเหนือจากปลาทูน่าและปลาที่คล้ายปลาทูน่า) อย่างสมเหตุสมผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งอาจรวมถึงการกำหนดโควตาการจับ และกำหนดเครื่องมือประมงสำหรับทำการประมง บริเวณพื้นท้องน้ำ โดยคำนึงถึงผลกระทบจากการทำประมงพื้นท้องน้ำทั่วทั้งพื้นที่ภายใต้ข้อตกลง SIOFA (SIOFA – WideBottom Fishing Impact Assessment : SIOFA BFIA) เพื่อให้มั่นใจว่าการทำประมงสำหรับพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงเป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีกองเรือจากหลายสัญชาติได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในบริเวณดังกล่าวมากขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ