ขอความเห็นชอบร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ว่าด้วยการขนส่งในชนบทอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030

ข่าวการเมือง Tuesday March 14, 2017 17:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ว่าด้วยการขนส่งในชนบทอย่างยั่งยืนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030 และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างปฏิญญาฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะผู้แทนไทยโดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (นายพิชิต อัคราทิตย์) ให้การรับรองร่างปฏิญญาดังกล่าว ร่างปริญญาเวียงจันทร์ฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศที่เข้าร่วมการประชุมด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้คำมั่นว่าประเทศสมาชิกจะดำเนินการ ดังนี้

1. ส่งเสริมให้มีโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านการขนส่งในชนบทที่ครอบคลุม เข้าถึงง่าย และ มีความยั่งยืน

2. ตระหนักว่าการสร้างการเข้าถึงระบบขนส่งในชนบทนั้นมิได้มีเพียงการก่อสร้างถนนสายใหม่ ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบำรุงรักษาถนนหรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิม ซึ่งจำเป็นต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

3. ร่วมกันหาแนวทางลงทุนด้านถนนและโครงสร้างพื้นฐานในชนบทที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ได้ดี อีกทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่ชุมชนว่าสามารถใช้สัญจรได้ตลอดฤดูกาล

4. ส่งเสริมการขนส่งในชนบทที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ระบบการขนส่งคาร์บอนต่ำ และหลีกเลี่ยงการพัฒนาถนนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

5. ส่งเสริมการเข้าถึงระบบการขนส่งในชนบทที่มีประสิทธิภาพ

6. ให้ความสำคัญต่อโครงการพัฒนาระบบขนส่งในชนบทและริเริ่มการพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติรวมถึงกรอบนโยบายเพื่อปรับปรุงการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างพื้นที่ชนบทกับโครงข่ายการขนส่งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค

7. สร้างความปลอดภัย ความยั่งยืน และประสิทธิภาพในการขนส่งในพื้นที่ชนบท รวมถึงกำหนดให้มีการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถยนต์ พร้อมทั้งจัดหลักสูตรอบรมสำหรับผู้ขับขี่และช่างเครื่อง มีการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง การวางแผนที่ครอบคลุมและเทคนิคการบริหารจัดการ

8. ใช้ประโยชน์จากผลวิจัยสำหรับระเบียบวิธีวิจัยเชิงนวัตกรรมเพื่อสร้างการเชื่อมโยงในชนบท ที่ยั่งยืน

9. เรียกร้องให้มีการสร้างความร่วมมือทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนให้มีการทบทวนความก้าวหน้าในการดำเนินงาน การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการวิจัยและพัฒนา เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงความเชื่อมโยงระหว่างเมืองกับชนบทเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้าถึงระบบขนส่งในชนบทที่ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อให้เข้าถึงแหล่งการขนส่งที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการก่อมลภาวะต่ออากาศและน้ำ รวมถึงการมีแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มีนาคม 2560--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ