ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday May 1, 2018 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ทั้งนี้ ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ก่อนการเสนอพิธีสารปี 2014 ส่วนเสริมอนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดลักษณะความผิดฐานใช้แรงงานบังคับ หมายถึง “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือ บริการโดยมิได้สมัครใจให้กับตนหรือบุคคลที่สาม โดยการข่มขู่ ขู่เข็ญว่าจะลงโทษโดยมิชอบ ใช้กำลังประทุษร้าย ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้ นำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือบุคคลอื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ หรือด้วยวิธีอื่นใดโดยมิชอบที่ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถที่จะขัดขืนได้หรือมิได้สมัครใจที่จะทำเอง ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดฐานใช้แรงงานบังคับ”

2. กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานบังคับหรือช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานบังคับในต่างประเทศให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรหรือถิ่นที่อยู่

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการจำนวน 2 คณะ ได้แก่

3.1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับมีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ

3.2 คณะกรรมการกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ มีหน้าที่กำกับดูแลการบริหารจัดการ ติดตามการดำเนินงาน และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการใช้จ่ายเงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน

4. กำหนดมาตรการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการใช้แรงงานบังคับ เช่น การจัดหาที่พักอาศัยชั่วคราว

5. กำหนดบทลงโทษที่มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานบังคับ โดยเพิ่มโทษกรณีกระทำผิดต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ หรือผู้มีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ และกรณีที่ทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสหรือเป็นโรคร้ายแรงซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือถึงแก่ความตาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 พฤษภาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ