ขออนุมัติการลงนามในเอกสารโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate

ข่าวการเมือง Tuesday August 28, 2018 17:58 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติการลงนามในเอกสารโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate and Pollution Impacts (EAF – Nansen Programme)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในโครงการ Supporting the Application of the Ecosystem Approach to Fisheries Management considering Climate and Pollution Impacts (EAF – Nansen Programme) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) เพื่อดำเนินงานวิจัยและการสำรวจทรัพยากรประมงและทะเล ของไทย

2. อนุมัติในหลักการว่า ก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารโครงการฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

3. อนุมัติให้อธิบดีกรมประมงเป็นผู้ลงนามในเอกสารโครงการฯ

4. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามในข้อ 3

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า กษ. ได้รับเอกสารโครงการ GCP/GLO/690/NOR: EAF – Nansen Programme จากสำนักงานองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาลนอร์เวย์ผ่านองค์กรนอร์เวย์เพื่อการพัฒนาความร่วมมือ (Norad) สถาบันวิจัยทางทะเล (IMR) FAO และประเทศตามแนวชายฝั่งแอฟริกา โดยโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) และมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความยากจนและส่งเสริมให้มีการเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ผ่านการทำการประมงอย่างยั่งยืนเพื่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการให้แก่ประชากรของประเทศสมาชิก โดยในการดำเนินการจะใช้เรือสำรวจทรัพยากรทางทะเล [Dr Fridtjof Nansen ขนาด 3,853 ตันกรอส สัญชาตินอร์เวย์และชักธงองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ซึ่งเป็นเรือสำรวจที่มีความทันสมัยและมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์พร้อมสำหรับการสำรวจทรัพยากรทางทะเล ทำการสำรวจทางนิเวศวิทยาและประเมินทรัพยากรทะเล เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในมหาสมุทรอินเดีย เริ่มจากสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐโมซัมบิก สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย สาธารณรัฐมอริเชียส สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสิ้นสุดการสำรวจ ณ ทะเลอันดามัน ประเทศไทย โดยมีกำหนดเข้าน่านน้ำไทยช่วงเดือนกันยายน – ตุลาคม 2561 และมีแผนทำการสำรวจทรัพยากรประมงและสมุทรศาสตร์ทะเลลึกที่ได้ร่วมกันวางแผนตามความสนใจของประเทศไทยผ่านการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในการสำรวจจะมีการนำเรือสำรวจโดยการอนุญาตของ FAO เดินทางเข้ามาในทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ ซึ่งจะมีการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมระหว่าง FAO กับรัฐบาลไทยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามที่ระบุในข้อ 7 ของเอกสารโครงการ เพื่อทำการสำรวจระบบนิเวศวิทยาทางทะเลและเมื่อการสำรวจแล้วเสร็จสิ้น FAO จะจัดทำรายงานและส่งมอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลผู้สนับสนุนทุน (สถาบันวิจัยทางทะเล ประเทศนอร์เวย์) ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในเอกสารโครงการและมีการจัดทำรายงานการประเมินผลซึ่งจะถูกเก็บเป็นความลับและจำกัดการเข้าถึงของบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการโดยตรง

ทั้งนี้ การดำเนินการตามโครงการฯ ดังกล่าวโดยการสำรวจทรัพยากรทางทะเลในน่านน้ำไทยจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการแสดงความร่วมมือที่ดีของประเทศไทยกับองค์กร FAO และแสดงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะบริหารจัดการทรัพยากรประมง ประโยชน์ด้านข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจทรัพยากรประมงในเขตน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามันภายใต้เขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและการประมงไทยต่อไปในอนาคต รวมทั้งเป็นการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจากปัญหามลพิษทางทะเล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 สิงหาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ