ท่าทีไทยสำหรับการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 7

ข่าวการเมือง Tuesday September 4, 2018 17:59 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ท่าทีไทยสำหรับการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งที่ 7

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมแผนความร่วมมือระหว่าง พณ. แห่งราชอาณาจักรไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ครั้งที่ 7

2. หากในการประชุมดังกล่าวมีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้า ในประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากประเด็นในท่าทีตามข้อ 1 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าสองฝ่ายระหว่างไทยกับ สปป.ลาว โดยไม่มีการจัดทำเป็นความตกลงหรือหนังสือสัญญาขึ้นมา ให้ พณ. และผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองผลการประชุมแผนความร่วมมือฯ ไทย-สปป.ลาว ครั้งที่ 7 รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ที่เป็นผลจากการหารือขยายความร่วมมือเฉพาะด้าน (หากมี)

สาระสำคัญของเรื่อง สืบเนื่องจากการประชุมแผนความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์ แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์ 2558 ณ กรุงเทพมหานคร มีประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่อพัฒนาความร่วมมือกับทาง สปป.ลาว เช่น เป้าหมายการค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงเส้นทางและการขนส่งระหว่างสองประเทศและในภูมิภาค โดยในการประชุมแผนความร่วมมือฯ ครั้งที่ 7 ซึ่งจะจัดขึ้น ในวันที่ 5 – 6 กันยายน 2561 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว มีประเด็นการหารือสำคัญในหลายประเด็น ซึ่ง พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมแผนความร่วมมือฯ ครั้งที่ 7 แล้ว สรุปดังนี้

ประเด็น / รายละเอียด

1. เป้าหมายการค้า

  • ผลักดันให้มูลค่าการค้าไทย – สปป.ลาวให้บรรลุ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2564 (ในปี 2560 มูลค่าการค้าของไทย-สปป.ลาว ประมาณ 6,170.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 1,730.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมในการประชุมครั้งที่ 6 ที่ตั้งไว้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. ประเด็นที่ต้องเจรจาต่อเนื่องจากการประชุมแผนความร่วมมือฯ ครั้งที่ 6

(1) ร่วมหารือแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

(2) ดำเนินการด้านพิธีการศุลกากรตรวจแบบเสร็จ ณ จุดเดียว

(3) เร่งรัดหาแนวทาง การเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้งสองประเทศ

(4) เจรจาในประเด็นความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงเส้นทางและการขนส่งระหว่างสองประเทศและในภูมิภาค

(5) เจรจาเกี่ยวกับความคืบหน้าความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ

(6) ร่วมหา แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนภาคเอกชน

3. ประเด็นที่อาจจะหารือเพิ่มเติม

ความร่วมมือด้านการเงินการธนาคาร ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และความร่วมมือ ในกรอบอนุภูมิภาคและในภูมิภาค และความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 4 กันยายน 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ