ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ...

ข่าวการเมือง Tuesday December 18, 2018 17:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดเกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2 กรณี คือ

1.1 การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการเวนคืน โดยกำหนดให้ในกรณีที่รัฐมีความจำเป็น ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนเขตที่ดินที่จะเวนคืนเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำการสำรวจอสังหาริมทรัพย์และรังวัดที่ดินที่จะเวนคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด และกำหนดมาตรการจูงใจให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐ โดยหากตกลงทำสัญญาซื้อขายตั้งแต่ในชั้นการตราพระราชกฤษฎีกาฯ จะได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละสอง และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดินตลอดจนสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรด้วย

1.2 การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการซื้อขาย กำหนดให้ในกรณีที่รัฐมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นกิจการที่ไม่อาจเวนคืนได้ สามารถซื้อขายที่ดินหรืออสังหาริทรัพย์จากเจ้าของ โดยเป็นการซื้อขายโดยสมัครใจและเจ้าหน้าที่สามารถนำอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาไปใช้ในขอบวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจของตน รวมถึงโอนให้แก่หน่วยงานของรัฐอื่นได้ และเจ้าของอาจได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดินและสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรด้วย

2. กำหนดเกี่ยวการเวนคืนเพื่อชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืน โดยกำหนดให้หากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลทำให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนไม่มีที่ดินเหลืออยู่หรือมีที่ดินเหลืออยู่แต่ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพได้ เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเพื่อนำไปชดเชยที่ดินของเจ้าของที่ดินดังกล่าวแทนการจ่ายเงินค่าทดแทนได้

3. กำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่เข้าใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนภายในระยะเวลาที่กำหนด เนื่องจากการเข้าใช้ประโยชน์หรือไม่เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินที่ถูกเวนคืนมีผลต่อระยะเวลาในการเรียกคืนอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของเดิมหรือทายาท จึงควรมีบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดแนวทางไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจน

4. กำหนดเกี่ยวกับการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้เจ้าของเดิมหรือทายาท โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทให้สอดคล้องกับมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยหากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้จากการเวนคืน เจ้าของเดิมหรือทายาทมีสิทธิขอคืนที่ดินดังกล่าวได้ และเมื่อเจ้าของเดิมหรือทายาทคืนเงินค่าทดแทนที่ได้รับไปพร้อมทั้งดอกเบี้ยคืนให้แก่เจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนคืนที่ดินให้กับเจ้าของเดิมหรือทายาททันที รวมทั้งหากเจ้าของเดิมหรือทายาทไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาการคืนอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยไม่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในต่อฝ่ายปกครอง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธันวาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ