ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. ….

ข่าวการเมือง Tuesday December 18, 2018 17:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พ.ศ. …. มีสาระสำคัญโดยสรุปดังต่อไปนี้

1. เจตนารมณ์

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 54 วรรคสาม กำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระดมทรัพยากรและความเป็นหุ้นส่วน ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับมาตรา 258 จ. ด้านการศึกษา (4) ปรับปรุงการจัด การเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ประชาชนมีสิทธิในการจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และสร้างธรรมาภิบาลของการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. ประชาชนมีสิทธิในการจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการจดแจ้งการดำเนินการการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 8)

ภาคเอกชน มีสิทธิจัดและรับบริการการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเริ่มตั้งแต่ครอบครัวไปสู่ทุกภาคส่วนของสังคมตลอดจนสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทรัพยากร รวมทั้งบูรณาการการศึกษาทุกระบบหรือระบบใดระบบหนึ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของผู้รับบริการ ทั้งนี้ การจัด การเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เป็นภาคเอกชน ให้จดแจ้งการดำเนินการ

3. กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามช่วงวัย (มาตรา 10)

ในการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต แบ่งออกเป็นห้าช่วงวัยดังต่อไปนี้

(1) ช่วงเด็กปฐมวัย อายุช่วงก่อนคลอดถึงก่อนอายุแปดปีบริบูรณ์

(2) ช่วงวัยเด็ก อายุย่างเข้าปีที่เจ็ดถึงอายุย่างเข้าปีที่สิบหก

(3) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุสิบเจ็ดปีขึ้นไปถึงสามสิบห้าปีบริบูรณ์

(4) ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย อายุสามสิบห้าปีขึ้นไปถึงหกสิบปีบริบูรณ์

(5) ช่วงวัยผู้สูงอายุ อายุหกสิบปีขึ้นไป

4. ระบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 11 มาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา 14)

ในการจัดระบบของการจัด ส่งเสริม สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสำนักงานและภาคีเครือข่าย มีสามระบบ ได้แก่ ระบบการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับในรูปแบบการศึกษานอกระบบ ระบบการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต และระบบการศึกษาตามอัธยาศัย

(1) ระบบการศึกษาเพื่อคุณวุฒิตามระดับในรูปแบบการศึกษานอกระบบ มีสองระดับ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(2) ระบบการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ผู้รับบริการได้รับการพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะ ทักษะการดำรงชีวิต โดยอาจได้รับใบรับรองความรู้ หรือใบรับรองสมรรถนะ

(3) ระบบการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ผู้รับบริการได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ตามศักยภาพและโอกาสของผู้รับบริการโดยศึกษาจากบุคคลประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม พื้นที่การเรียนรู้ สื่อ ดิจิทัลแพลตฟอร์มหรือแหล่งการเรียนรู้อื่น เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปปรับใช้อย่างเหมาะสม

5. ประโยชน์ของการจัด ส่งเสริมสนับสนุน การเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 18)ในการจัด ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อประโยชน์ดังนี้

(1) ประโยชน์ผู้รับบริการโดยรวม

ให้เป็นผู้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญตามความถนัดของตน เป็นคนดี มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม เคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น รวมทั้งมีค่านิยมที่ดีงาม ภูมิใจในชาติ เป็นพลเมืองดีและมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และมีจิตสาธารณะ เป็นผู้ที่ปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสามารถดำเนินชีวิตตามศาสตร์พระราชาได้

(2) ประโยชน์ผู้รับบริการตามช่วงวัย

ช่วงเด็กปฐมวัย บิดา มารดาหรือผู้ปกครอง มีความรู้ความเข้าใจในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยให้เป็นพลเมืองรุ่นใหม่ มีพัฒนาการที่สมวัย รวมทั้งมีจิตสำนึกในการเป็นคนดี มีวินัย และภูมิใจในชาติ

ช่วงวัยเด็ก เด็กเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ มีความสามารถเรียนรู้ได้สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ความสามารถที่สอดคล้องกับความถนัดและความสนใจ พร้อมเข้าสู่การทำงานและสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ภายใต้สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม

ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น มีทักษะ ความรู้ สมรรถนะในการทำงาน มีทักษะอาชีพในการหารายได้ที่เหมาะสมกับศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญตามความถนัด สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นและทำงานกับผู้อื่นได้ภายใต้สังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม รวมทั้งมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย มีความมั่นคงในชีวิต มีสมรรถนะในการทำงาน เลือกอาชีพในการหารายได้ที่เหมาะสมกับศักยภาพ และมีความเชี่ยวชาญตามความถนัดของตน มีความรู้ในการดำรงชีวิต มีสุขภาพที่ดีตามวัยและพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย

ช่วงวัยผู้สูงอายุ มีศักยภาพในการถ่ายทอดภูมิปัญญาและความรู้ มีส่วนรวมในกิจกรรมทางสังคม มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีงานทำหลังเกษียณที่เหมาะสมกับศักยภาพ มีทักษะการดำรงชีวิต รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค

6. กลไกในการจัดส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 28)

กระทรวงศึกษาธิการ มีสำนักงาน กศน. ที่ดำเนินการจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยในปัจจุบัน และมีความพร้อมที่จะจัด ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนทุกช่วงวัย เนื่องจากมีกลไกในการดำเนินงานตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับภาคซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิชาการระดับจังหวัด สถานศึกษา ซึ่งกระจ่ายอยู่ทุกหมู่บ้านและชุมชนในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ในการดำเนินงานนั้น

มีคณะกรรมการเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งประสานประโยชน์ในการดำเนินงานการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกระดับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 ธันวาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ