การจัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติเลขหมายเดียว (National Single Emergency Number)

ข่าวการเมือง Tuesday December 25, 2018 18:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบในการดำเนินโครงการฯ

2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

2.1 ให้เร่งรัดดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติให้เป็นไปตามแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้ และให้ประเมินผลการดำเนินโครงการเป็นระยะ ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

2.2 ให้ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงและให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุได้อย่างทันท่วงที

2.3 ในอนาคตเมื่อศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติมีความพร้อม สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา ความเป็นไปได้ในการยกเลิกเลขหมายในระบบฉุกเฉินเลขหมายอื่น ๆ เพื่อลดความสับสนของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการทำงานและลดภาระงบประมาณของประเทศ

3. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

1. โครงการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกฉินแห่งชาติมีสาระสำคัญ ดังนี้

วัตถุประสงค์โครงการ

(1) เพื่อจัดหาและติดตั้งระบบศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติที่ทันสมัย สามารถรองรับการรับแจ้งฉุกเฉินได้หลายช่องทาง เช่น VDO Call, Social Media, Mobile App, SMS, MMS และรองรับการแจ้งเหตุจากผู้พิการทางการได้ยิน

(2) เพื่อจัดหาและติดตั้งระบบให้หน่วยงานบริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีตำรวจและรถยนต์สายตรวจ โรงพยาบาลในเครือของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสถานีดับเพลิงประจำจังหวัด เพื่อให้สามารถประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

(3) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับแจ้งและสั่งการเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล

(4) เพื่อบูรณาการการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกเหตุการณ์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ หลาย ๆ หน่วยงานเข้าด้วยกันโดยใช้หมายเลข 191 เลขหมายเดียว

(5) เพื่อเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระดับจังหวัดและระดับภาคทั่วประเทศ

2. เป้าหมายการดำเนินงานให้บริการเหตุฉุกเฉิน

กลุ่มที่เกี่ยวข้อง / เป้าหมาย

ประชาชนทั่วไป

สามารถโทรฟรีได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

โทรติดง่ายตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่ตอบสายทันทีที่โทรติด

เจ้าหน้าที่จับประเด็นความต้องการช่วยเหลือได้รวดเร็ว

เจ้าหน้าที่สามารถส่งเรื่องให้หน่วยงานบริการฉุกเฉินรวดเร็ว

นักท่องเที่ยวต่างชาติ

เจ้าหน้าที่สื่อสารภาษาของนักท่องเที่ยวได้

ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส

มีระบบรองรับการสื่อสารพิเศษสำหรับผู้พิการ

เจ้าหน้าที่หน่วยงานให้บริการฉุกเฉิน

ได้ข้อมูลที่ต้องการให้เข้าไปช่วยเหลือครบถ้วนทั้ง

(1) ประเภทความต้องการ

(2) ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ

(3) ตำแหน่งที่จะเข้าไปช่วยเหลือ และ

(4) หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ต้องการความช่วยเหลือ

รัฐ

ประชาชนพึงพอใจคุณภาพการให้บริการ

การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ

ระบบการให้บริการสามารถบริการอย่างมีคุณภาพได้ต่อเนื่อง

3. การปฏิบัติงานของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ

ในการดำเนินการจะใช้กำลังพลข้าราชการตำรวจที่ประจำอยู่ในศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 เดิม จำนวน 77 จังหวัด ของ ตช. และมีการจ้างบุคคลภายนอกเพิ่มเติมให้เพียงพอเหมาะสมกับปริมาณงานและภารกิจ ทั้งนี้ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ ประกอบด้วย (1) ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 หรือศูนย์ 191 (Public Safety Answering Point : PSAP) (2) ศูนย์สั่งการเหตุ (Dispatch) และ (3) ศูนย์ให้บริการช่วยเหลือเฉพาะทาง (Specialist Contact Center)

4. ประโยชน์ที่จะได้รับ

1. ทำให้มีศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติที่ทันสมัย สามารถรองรับการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินได้หลายช่องทาง เช่น VDO Call, Social Media, Mobile App, SMS, MMS และรองรับการแจ้งเหตุจากผู้พิการทางการได้ยิน

2. ทำให้มีระบบรับแจ้งเหตุให้กับหน่วยงานบริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีตำรวจ และรถยนต์สายตรวจ โรงพยาบาลในเครือของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสถานีดับเพลินประจำจังหวัด เพื่อให้สามารถประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

3. ทำให้เพิ่มขีดความสามารถของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการรับแจ้งและสั่งการเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานสากล

4. สามารถบูรณาการการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทุกเหตุการณ์ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของหลาย ๆ หน่วยงานเข้าด้วยกัน โดยใช้หมายเลข 191 เลขหมายเดียว

5. ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระดับจังหวัดและระดับภาคได้ทั่วประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 25 ธันวาคม 2561--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ