ขออนุมัติกรอบงบประมาณโครงการณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ พ.ศ. 2563 – 2565

ข่าวการเมือง Tuesday January 8, 2019 18:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบงบประมาณโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทย ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ พ.ศ. 2563 – 2565 วงเงินงบประมาณรวม 359,733,400 บาท และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เพิ่มการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้กับเกษตรกรและประชาชนในเรื่องการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดยให้ปรับแผนงบประมาณ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ในปี 2562 ด้วย ตามที่ พณ. เสนอ ทั้งนี้ รายละเอียดงบประมาณให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. โครงการประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ปี 2563 – 2565 เป็นการดำเนินโครงการเชิงรุกในการขยายตลาดและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องขั้นต่ำ 3 ปี (ปี 2563 – 2565) เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด โดยโครงการมีการดำเนินการที่สำคัญ จำนวน 11 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรม / หน่วยงาน - รายละเอียดการดำเนินการ

กิจกรรมในต่างประเทศ (ด้านการตลาด)

1. การจับคู่ธุรกิจสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อเร่งรัดการส่งออก (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พณ.)

เชิญผู้นำเข้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวรายสำคัญเดินทางมาเจรจาการค้าและสั่งซื้อสินค้าในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยว

2. การส่งเสริมตลาดสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวต่าง ๆ ของไทย ผ่านทางออนไลน์ และเครือข่ายพันธมิตรออนไลน์สร้างความร่วมมือกับ e-Marketplace ชั้นนำ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พณ.)

สร้างความร่วมมือกับ e-Marketplace ชั้นนำ เพื่อส่งเสริมการซื้อ – ขายสินค้าข้าวและผลิตภัณธ์จากข้าวของไทยควบคู่ไปกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับข้าวและสินค้าข้าวไทยผ่านการเชิญ Key Opinion Leader หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencer) ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และนำไปเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง

กิจกรรมด้านมาตรฐาน

3. การจัดคณะผู้แทนไทยไปหารือกับผู้นำเข้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน (กรมการค้าต่างประเทศ พณ.)

ติดตามคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย สำรวจตลาดและการใช้เครื่องหมายรับรองฯ ในต่างประเทศ

4. การจัดประชุมสัมมนาชี้แจงมาตรฐานข้าวไทยและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง (กรมการค้าต่างประเทศ พณ.)

ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในโอกาสที่มีการเชิญประชุมอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (58 แห่ง)

             5. การจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย/ เครื่องหมายการค้าในประเทศที่เป็นตลาดสำคัญของข้าวไทย (กรมการค้าต่างประเทศ พณ.)           -

6. การพัฒนาฐานข้อมูลโภชนาการข้าวและห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ข้าวตามมาตรฐานสากล (กรมการข้าว กษ.)

จัดทำฐานข้อมูลโภชนาการข้าวและพัฒนาฐานข้อมูลข้าวตลาดเฉพาะ ศึกษาโภชนาการคุณสมบัติเฉพาะในข้าว กรณีการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในข้าว พัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์กลูเตนและคลอเลสเตอรอล

7. การพัฒนาและส่งเสริมการตามสอบสินค้าข้าว (กรมการข้าว กษ.)

พัฒนาและปรับปรุงระบบการตามสอบสินค้าข้าว (Traceability) เพื่อรองรับตลาดต่างประเทศ จำนวน 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน และอารบิค รวมทั้งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การใช้ระบบฯ

8. การส่งเสริมการผลิตและประชาสัมพันธ์สินค้าข้าวพันธุ์แท้เพื่อรองรับตลาดในประเทศและต่างประเทศ (กรมการข้าว กษ.)

ส่งเสริมการผลิตสินค้าข้าวที่ได้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ โดยได้สินค้าข้าวที่ได้เครื่องหมายข้าวพันธุ์แท้ 5 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ กข 43 สังข์หยด ทับทิมชุมแพ และมะลินิลสุรินทร์ และได้จดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ในต่างประเทศ จำนวน 6 ประเทศ ระบบการขอรับรองข้าวพันธุ์แท้ จำนวน 1 ระบบ และประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองพันธุ์แท้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

กิจกรรมในประเทศ

9. การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้คุณประโยชน์ข้าวและการส่งเสริมการบริโภคข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP (กรมการค้าภายใน พณ.)

ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น สปอตวิทยุ สื่อออนไลน์ แอพพลิเคชั่น และรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคร่วมกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ห้างสรรพสินค้า สมาคมภัตตาคาร สถานพยาบาล เป็นต้น

10.การประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการรณรงค์

การบริโภคข้าวไทย (กรมการค้าภายใน พณ.)

จัดงานแถลงข่าว จัดทำ VDO (Motion Graphic) รูปแบบ (Infographic เผยแพร่ในงานแถลงข่าวสื่อต่าง ๆ และ ณ จุดซื้อ (Point of Purchase) ที่ห้างสรรพสินค้า/ห้างค้าปลีกสมัยใหม่อย่างน้อย 4 แห่ง

11.การจัดงานแสดง Thai Rice Expo (กรมการค้าภายใน พณ.)

จัดนิทรรศการแสดงสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปข้าว ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด นวัตกรรมและการศึกษาวิจัย จัดสัมมนาเชิงวิชาการ/เสวนา/การสาธิตเทคโนโลยีและนวัตกรรม ออกบูธ/จัดคูหาจำหน่ายสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และจับคู่ธุรกิจ

2. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินตามโครงการฯ ดังนี้

2.1 โอกาสในการขยายตลาดข้าวไทยเชิงรุกผ่านช่องทางทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อรักษากลุ่มเป้าหมายเดิมและเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ตลอดจนสร้างการยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพของข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวของประเทศไทย

2.2 คุณภาพและมาตรฐานข้าวไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงตลาดเก่าและตลาดใหม่ ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมั่น ยอมรับในคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย มีการสั่งซื้อข้าวไทยอย่างต่อเรื่อง ส่งผลถึงราคาและความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย

2.3 เครื่องหมายการค้า/เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย รวมถึงได้รับการส่งเสริม/กำกับดูแลใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยเชิงรุก รวมถึงมีระบบการกำกับดูแลเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ทำให้การร้องเรียนจากผู้นำเข้าลดลง

2.4 เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานข้าวไทย ส่งผลให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพมาตรฐานข้าวดำเนินได้ด้วยความรวดเร็วเป็นไปตามวัตถุประสงค์การดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ