ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ....

ข่าวการเมือง Tuesday January 22, 2019 17:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

กค. เสนอว่า

1. ด้วยนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พิจารณาหาแนวทางสร้างแรงจูงใจ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าและรักษาป่า ซึ่ง ทส. พิจารณาเห็นว่า เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนป่าชุมชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานของป่าชุมชนในบทบาทการดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) จัดทำโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน เมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนที่ร่วมดูแลรักษาป่าโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์เครื่องมือ และมีเป้าหมายในการจัดตั้งป่าชุมชนที่อยู่รอบ ป่าสงวนแห่งชาติในรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 21,850 หมู่บ้าน พื้นที่ประมาณ 19.1 ล้านไร่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดพลังในการดำเนินกิจกรรมเพื่อดูแลรักษาป่าชุมชนอย่างเข้มแข็ง ทำให้สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มยิ่งขึ้น และเกิดความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพ ตลอดจนเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลต่อการ ลดปัญหาภาวะโลกร้อน

2. ต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชน ลดโลกร้อน ซึ่งผู้ประสงค์ให้การสนับสนุนทั้งภาคเอกชนและประชาชนจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดังกล่าว โดยดำเนินการตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนและเป็นการดำเนินงานที่มีความเชื่อมโยงกับการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ซึ่งลักษณะการสนับสนุนมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ด้านงบประมาณ ด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ และด้านเสริมสร้างศักยภาพและการจัดการความรู้

3. ปัจจุบันมีป่าชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจัดตั้งแล้วภายใต้การสนับสนุนจากงบประมาณหมวดเงินอุดหนุน ในการบริหารจัดการป่าชุมชน จำนวน 4,658 หมู่บ้าน พื้นที่ 3.55 ล้านไร่ และมีป่าชุมชนที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนและภาคเอกชนจะให้การสนับสนุน จำนวน 4,149 หมู่บ้าน พื้นที่ 1.55 ล้านไร่ โดยสนับสนุนหมู่บ้านละ 100,000 บาท ตลอดโครงการ รวมเป็นเงิน 415 ล้านบาท และจากการประสานข้อมูลจากกรมป่าไม้พบว่าระหว่างปีงบประมาณ 2559 ถึงปัจจุบันมีหน่วยงานภาคเอกชนได้เข้าร่วมโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน หลายแห่ง

4. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการดังกล่าว จึงสมควรให้สิทธิประโยชน์ ทางภาษีแก่ผู้ให้การสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน โดยกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน สามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ โดยจะต้องมีการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและจะต้องได้รับความเห็นชอบในระดับนโยบาย

5. ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนและประชาชนสนับสนุนชุมชนผู้ดูแลรักษา ป่าเฉพาะส่วนของป่าชุมชนที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน สามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับ การบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565

6. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการยกเว้นภาษีข้างต้น คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่จะได้รับ ดังนี้

6.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนมีแผนการใช้งบประมาณจากภาครัฐปีละ 90 ล้านบาท การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยให้ภาคเอกชนลงทุนดำเนินการปลูกป่าโดยการบริจาคมีผลทำให้จัดเก็บภาษีลดลงประมาณปีละ 18 ล้านบาท โดยจะเป็นการช่วยทดแทนและประหยัดเงินงบประมาณของภาครัฐที่ต้องดำเนินการปีละ 72 ล้านบาท ซึ่งการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในการสนับสนุนเงินอุดหนุนการบริหารจัดการดังกล่าว จึงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ

6.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1) ในส่วนของประชาชน การยกเว้นภาษีข้างต้นจะส่งเสริมให้ชุมชนเกิดพลังและความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อดูแลรักษาป่าชุมชนอย่างเข้มแข็ง ส่งผลให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

2) ในส่วนของสังคม จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันในลักษณะประชารัฐเพื่อร่วมกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ป่าชุมชนอย่างเหมาะสม นำไปสู่การรักษาฐานทรัพยากรของประเทศและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน อันเป็นการพัฒนาป่าไม้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุน ป่าชุมชนลดโลกร้อน สามารถนำเงินบริจาคมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้ให้การสนับสนุนต้องลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” และดำเนินการตามแนวทางของโครงการ

2. ต้องสนับสนุนโครงการเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าหมู่บ้านละ 100,000 บาท โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถให้การสนับสนุนได้มากกว่า 1 หมู่บ้าน

3. ผู้บริจาคจะต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงินจากกรมป่าไม้ โดยระบุว่า “เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการ “ภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” ชื่อป่าชุมชนที่ให้การสนับสนุนและปีที่ดำเนินการ” ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกความร่วมมือโครงการที่ได้ร่วมกันลงนามไว้แล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มกราคม 2562--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ